กรมอุตุฯ ชี้ 'เหนือ-อีสาน' เจอลมหนาวระลอกใหม่ส่วน 'กทม.-ปริมณฑล' ร้อนตามเดิม

20 ธ.ค.2566 – กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไปใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าและอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งและลมแรง

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเคลื่อนผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 22–25 ธ.ค. 66

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันน้อยถึงปานกลาง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก ตอนบนของภาค อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย กับมีลมแรง ตอนล่างของภาค เมฆบางส่วน กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล เมฆบางส่วน กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)

ลมหนาวมาต่อเนื่อง กรมอุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดฮวบ 2-4 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

กรมอุตุฯ ออกประกาศ ฉ.1 พายุไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว