กสม.ปลื้ม กทม.ทำตามข้อเสนอแนะ!

กสม. ชื่นชม กทม.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพให้สามารถใช้บริการสาธารณสุขได้ในทุกโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพฯ

07 ธ.ค.2566 - น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ กล่าวว่า ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2566 กสม. ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 กสม.ได้เข้าพบและหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนสูงสุดของประเทศ โดยในทางปฏิบัติพบปัญหาว่าแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยมักจะไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แต่ศูนย์บริการดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่าบริการได้ แรงงานจึงต้องจ่ายค่าบริการเอง เนื่องจากยังไม่มีนโยบายของกรุงเทพมหานครในการเข้ารับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขดังกล่าว และ กสม. เสนอให้กรุงเทพมหานครพิจารณารับตรวจสุขภาพและรับทำประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ เพื่อนำงบประมาณที่ได้มาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลในคนกลุ่มนี้

นอกจากการหารือถึงปัญหาดังกล่าวร่วมกับ กทม.แล้ว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ได้มีข้อเสนอแนะเรื่องการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในพื้นที่ กทม. ให้เป็นไปในลักษณะการจัดบริการสุขภาพเชิงรุกโดยใช้โรงพยาบาล จำนวน 8 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 69 แห่งของ กทม. เป็นจุดบริการ เนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุขถือว่าเป็นหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 สำนักการแพทย์ กทม. ได้ออกประกาศเรื่อง การรับบริการสุขภาพกรณีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โดยกำหนดแนวทางการรับบริการสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หรือสัญชาติอื่นตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเพิ่มเติม ในเขตพื้นที่ กทม. ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพและตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิริธร

น.ส.สุภัทรา​ กล่าวอีกว่า ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์ สามารถรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์ได้ทุกแห่ง (รวม 11 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร เพิ่มมาอีก 3 แห่ง จาก 8 แห่งข้างต้น) รวมตลอดทั้งสามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย อีก 69 แห่ง ของ กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งที่ 4204/2566 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการและจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีรองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และจัดบริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมมือและบูรณาการการจัดกิจกรรม แผนงาน โครงการ ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขสำหรับแรงงานข้ามชาติ ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเป็นกลไกเชิงนโยบายที่สำคัญ

“กสม. ขอชื่นชม กทม. ที่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ กสม. ซึ่งเป็นผลให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพในประเด็นที่ว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวันที่ 27 ธ.ค. 2565” น.ส.สุภัทรา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่น PM 2.5 กทม. แนวโน้มลดลง เกินค่ามาตรฐานเหลือ 15 พื้นที่ อยู่ฝั่งธนบุรีเป็นส่วนมาก

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร

คนกรุงเทพฯ สำลักฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม 63 พื้นที่

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ณ เวลา 07.00 น. : ตรวจวัดได้ 34.3-74.3 มคก./ลบ.ม. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 63 พื้นที่ คือ

นักวิชาการ เตือนคนกรุงฝุ่น PM 2.5 สูงมาก อากาศข้างนอกเย็นสบาย แต่ออกไปอาจป่วยตายได้

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรุงเทพฯช่วงนี้ อากาศข้างนอกเย็นสบายแต่ออกไปอาจป่วยตายได้..

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ