กสม.โอ่ผลงานจัดประชุมว่าด้วยผลกระทบนโยบายยาเสพติด

กสม.ร่วมจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยผลกระทบนโยบายยาเสพติด สนับสนุนการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดแทนมาตรการทางกฎหมาย สร้างการยอมรับผู้เสพเป็นผู้ป่วย

30 พ.ย.2566 - นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2566 กสม.ร่วมกับกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) และ คณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights: CESCR) จัดการประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดทำความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของนโยบายยาเสพติด โดยเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 20 และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment) ของคณะกรรมการ CESCR มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของนโยบายยาเสพติด โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อคณะกรรมการ CESCRจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางสำหรับรัฐภาคีในการกำหนดนโยบายยาเสพติดที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยสมาชิก SEANF ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และการครบรอบ 30 ปี ของหลักการปารีส (Paris Principles) ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือและความมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเรื่องที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

Mr.Anand Grover ผู้แทนคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยนโยบายยาเสพติด (Global Commission on Drug Policy) บรรยายเรื่อง “สถานการณ์โลกเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากนโยบายยาเสพติด” นายเสรี นนทสูติ กรรมการประจำกติกา CESCR และหัวหน้าผู้รายงานร่างเอกสารความเห็นทั่วไปว่าด้วยผลกระทบของนโยบายยาเสพติดต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม บรรยายเรื่อง “คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติและนโยบายยาเสพติด” และ Ms. Rebecca Schleifer นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล (เครือข่ายความยุติธรรมด้านสุขภาพระดับโลก) และที่ปรึกษาการจัดทำร่างเอกสารความเห็นทั่วไป บรรยายเรื่อง “การนำเสนอเค้าโครงของร่างเอกสารความเห็นทั่วไปว่าด้วยผลกระทบของนโยบายยาเสพติดต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”

นอกจากนี้ สมาชิก SEANF แต่ละประเทศได้นำเสนอสถานการณ์และนโยบายยาเสพติดของประเทศ ที่ส่งผลกระทบสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 4 ล้านคน กฎหมายกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ร้อยละ 79.2 ของผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด ในปี 2564 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยยาเสพติด (UNGASS 2016) ซึ่งมีการพูดถึงมิติสิทธิมนุษยชนในการควบคุมปัญหายาเสพติด และเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุคำว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ไว้ในกฎหมาย แต่ยังคงกำหนดให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดทางอาญา และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบำบัด รักษา ฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีความเหมาะสม แต่ก็ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การจับกุมโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบการทำร้ายร่างกาย การให้อำนาจพิเศษ ป.ป.ส.ในการควบคุมตัว เป็นต้น

กสม. สนับสนุนการนำมาตรการการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) มาใช้แทนมาตรการทางกฎหมาย ในส่วนของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ควรยกเลิกโทษอาญาสำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ยกเลิก การบังคับบำบัดยกเว้นกรณีที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม การพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดที่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ยา ชุมชน ภาคประชาสังคม ในการร่วมจัดบริการที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ให้กับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และประชาชนทั่วไป

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมทั้งกลุ่มย่อยจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการ และกลุ่มภาคประชาสังคม ได้นำเสนอและวิพากษ์ประเด็นเกี่ยวกับมิติระดับชาติและการกำหนดนโยบายยาเสพติด องค์ประกอบสำคัญที่ควรระบุในร่างเอกสารความเห็นทั่วไปดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APF) และคณะกรรมาธิการระดับโลกว่าด้วยนโยบายยาเสพติด ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายยาเสพติดและสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในระดับภูมิภาค และ Mr. Virgilio da Silva Guterres ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม SEANF ครั้งที่ 21 ในปี พ.ศ. 2567 กล่าวปิดประชุม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ​' รักษาตัวชั้น​ 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่​

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ (กสม.​) ส่งเรื่องให้

เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ

'กสม.' ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล 'ผู้เสพคือผู้ป่วย'

เปิดผลสอบ 'กสม.' ชี้ชัด 'ทักษิณ' อภิสิทธิ์ชน ยื่น ป.ป.ช. ฟัน 'เรือนจำ-รพ.ตำรวจ'

กสม. สอบร้องเรียนปม 'ทักษิณ' ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ชี้ชัด 'เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-รพ.ตำรวจ' เลือกปฏิบัติละเมิดสิทธิ ยื่น ป.ป.ช.ฟัน

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น