เด็ก มธ. ชวนสร้าง 'ค่านิยมใหม่' วันรับปริญญา ใช้วาระเฉลิมฉลองบัณฑิต เป็นสะพานเชื่อมโอกาสสู่สังคม

‘วันรับปริญญา’ ถือเป็นวาระแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มองว่าวันรับปริญญาคือหลักไมล์สำคัญของชีวิต เป็นรอยต่อที่จะก้าวเข้าสู่โลกการทำงานอย่างเต็มตัว

แทบทุกมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมรับปริญญาขึ้นด้วยความปรารถนาดี เพื่อส่งมอบประสบการณ์และความทรงจำอันดีให้กับเหล่าบัณฑิต วันรับปริญญาจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน และความภาคภูมิใจของคนในครอบครัว

นั่นจึงกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในโอกาสแห่งการแสดงความยินดี ของขวัญนานาชนิดถูกส่งมอบแก่บัณฑิตแทนความรู้สึก ทว่าสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และว่าที่บัณฑิตจากรั้ว มธ. กลุ่มหนึ่ง ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2564 นี้ กลับตีความ ‘กิจกรรมวันรับปริญญา’ ด้วยนิยามใหม่

เขาเหล่านั้นมองว่า การแสดงความยินดีนั้นสามารถแสดงออกได้หลากหลาย มากกว่าเพียงแค่การให้ของขวัญ และผู้ที่เข้ามาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิต ก็ควรได้รับประโยชน์จากวาระอันดีงามนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘ให้ของขวัญเป็นความสุขส่งต่อได้’ และต้องการส่งต่อไอเดียไปถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่เห็นสอดคล้องกัน เพื่อร่วมกัน ‘พลิกโฉม’ วันรับปริญญาใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคล สังคม และโลกใบนี้

สำหรับวันรับปริญญานั้น เป็นวันที่คนที่เรารักและคนที่รักเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ยอมสละเวลา-สละชีวิตส่วนตัว เพื่อเดินทางมาแสดงความยินดี มาร่วมเฉลิมฉลองกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมองเห็นถึงวาระโอกาสที่ดีในครั้งนี้ ที่จะทำอะไรกันมากกว่าการถ่ายรูปและให้ของขวัญแก่บัณฑิต เปลี่ยนจากวันเฉลิมฉลองไปสู่ ‘วันมอบโอกาสให้สังคม’ แทน

นรมน ปุณยชัยพันธ์ หรือ หมูแฮม กรรมการบัณฑิต ให้ความเห็นว่า การเข้าร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตเนื่องในโอกาสจบการศึกษาเมื่อถึงวันรับปริญญานั้น ความคิดแรก ๆ ของผู้ที่มาร่วมงานมักเป็นการซื้อของขวัญมอบให้กับบัณฑิต เช่น ดอกไม้ ลูกโป่ง ตุ๊กตา ฯลฯ ด้วยเจตนาที่ต้องการแสดงความยินดี ซึ่งแม้บัณฑิตจะรู้สึกดีใจที่มีคนมาหาและมอบของให้ แต่ก็ต้องคิดต่อไปว่า หลังจากนั้นจะทำอย่างไรกับของขวัญเหล่านั้นดี เพราะของที่ไม่มีประโยชน์ก็จะมีโอกาสกลายเป็นขยะ

ดังนั้น เธอจึงมองว่า หากต้องการมอบของขวัญให้แก่บัณฑิตแล้ว การเลือกสิ่งของที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์และน่าสนใจมากกว่า

“อาจเลือกมอบสิ่งของที่คิดว่าบัณฑิตคนนั้นได้ใช้อยู่แล้ว หรือเป็นการมาหาเพื่อแสดงความยินดีเฉย ๆ ก็ได้ เพราะบัณฑิตหลายคนก็มองเหมือนกันว่าเพียงแค่เขามาแต่ตัว มาร่วมแสดงความยินดี เพียงเท่านี้ก็ดีใจแล้ว หรืออาจเป็นการนัดออกไปทานข้าวพบเจอพูดคุยกันก็ได้ แต่หากอยากมอบของขวัญให้กับบัณฑิตจริง ๆ อย่างดอกไม้ หรือลูกโป่ง เพราะบางคนมองว่าถ่ายรูปแล้วสวย ก็คิดว่ายังคงสามารถทำได้ เพียงแต่เราอาจมีทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น ‘ดอกไม้’ อาจใช้ทางเลือกที่เป็นดอกไม้ตากแห้ง หรือดอกไม้ลักษณะที่เป็นถักไหมพรม ซึ่งบัณฑิตสามารถเก็บไว้ใช้ต่อได้” นรมน ระบุ

เธอ ย้ำกว่า นี่ไม่ใช่การกล่าวโทษว่าการให้ของขวัญนั้นไม่ดี เพียงแต่อาจช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้คนได้ฉุกคิดถึงทางเลือกอื่น ๆ โดย ผู้ให้ก็ดีใจ ผู้รับก็สุขใจ และยังดีต่อโลกมากขึ้นด้วย

ขณะที่ คุณากร ตันติจินดา หรือ บี๋ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอความคิดเห็นว่า แม้การมอบของขวัญจะดูเป็นเรื่องปกติ เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเพื่อแสดงความยินดีกับใคร แต่ในมุมที่เป็นข้อเสียคือ ของขวัญที่นำมามอบให้หลายอย่างนั้น ผู้รับอาจเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้และกลายเป็นขยะต่อไป อย่างเช่นดอกไม้ หรือแม้หากเป็นของขวัญที่ใช้งานได้ แต่มีคนนำมามอบให้เยอะ สุดท้ายก็อาจมีของจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกใช้งาน

ทั้งนี้ เขามองว่าทุกคนคงยังคงสามารถให้ของขวัญกันเหมือนเดิมได้ แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้รับ หรือบัณฑิตได้มากยิ่งขึ้น จึงคิดว่าอาจเลือกให้เป็นของขวัญที่สามารถนำเอาไปใช้งานได้จริงก่อน เป็นสิ่งของที่จะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนสิ่งของที่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ หรือสิ่งของที่เน่าเสียตามกาลเวลา ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง แล้วหาแนวทางอื่น ๆ ในการส่งต่อความสุข ความยินดี เช่น อาจเป็นการร่วมนำเอาสิ่งของไปบริจาคหรือทำบุญ

ด้าน สุชาวลีรัตน์ อุ่นคุณธรรม หรือ มิลค์ บัณฑิตคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ทูตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองว่า การรับปริญญาเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ความสำเร็จของบัณฑิต หลังจากที่ใช้เวลาศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมานาน คนที่มาร่วมงานจึงรู้สึกอยากแสดงความยินดี และมักจะมีของขวัญติดไม้ติดมือมาด้วย เป็นของที่ดูแล้วน่ารักในวันดังกล่าว แต่ก็อาจเป็นขยะได้ในวันต่อไป เช่น ป้ายจบการศึกษา หรือดอกไม้ ที่วันหนึ่งก็แห้งเหี่ยวไป

เธอเชื่อว่าในเมื่อจุดประสงค์หลักคือการร่วมแสดงความยินดี แต่คนอาจยังไม่ได้คิดต่อไปไกลว่าของขวัญเหล่านั้นสุดท้ายแล้วจะไปกองอยู่จุดไหน จึงทำให้รูปแบบการแสดงความยินดีนี้อาจไปสร้างภาระให้กับมหาวิทยาลัยหรือส่วนอื่น ๆ ต่อไปได้ ดังนั้นในสมัยปัจจุบันที่เรามีการรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม การพยายามไม่ทำร้ายหรือสร้างภาระให้กับโลกกันมากขึ้น จึงเป็นการดีหากเราจะร่วมกันเปลี่ยนรูปแบบการให้และรับของขวัญกันได้มากขึ้น

“ถ้าเป็นคนที่สนิท รู้ใจบัณฑิตหน่อย เขาก็อาจเลือกของขวัญที่เหมาะสม และรู้ว่าเขาได้ใช้งานต่อแน่ ๆ เช่น บัณฑิตกำลังเตรียมตัวเข้าทำงานต่อในอนาคต ก็อาจเป็นสิ่งของ เช่น สมุดจด ปากกา หรือถ้ามีงบประมาณหน่อย ก็อาจเป็นกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คก็ได้” มิลค์ ยกตัวอย่าง

มิลค์ ยังระบุด้วยว่า การที่คนรุ่นใหม่มีความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเขาเป็นคนในรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากผลของการไม่ใส่ใจโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคระบาด หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้ต้องหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยมีหลายพฤติกรรมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพกแก้วน้ำส่วนตัว หรือการพกถุงใส่ของใช้ซ้ำ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดการมอบของขวัญในงานรับปริญญานี้ ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้เช่นกัน

โดยเฉพาะบทบาทของมหาวิทยาลัย เพราะการรณรงค์สิ่งเหล่านี้ในงานรับปริญญา ผู้ที่เห็นจะไม่เพียงแค่บุคลากรหรือนักศึกษา แต่เป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถเผยแพร่แนวคิดดี ๆ เหล่านี้ไปสู่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติ รวมถึงเพื่อน ๆ ของบัณฑิต ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก

นอกจากเรื่องของการมอบของขวัญก็อาจมีอย่างอื่น เช่น การติดตั้งจุดกดน้ำตามจุดต่าง ๆ ที่ทำให้คนสนใจการพกแก้วส่วนตัวกันมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการณรงค์จากจุดเล็ก ๆ เหล่านี้จะมีส่วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

และในปีนี้ เป็นปีแห่งการเริ่มต้นด้วยแนวคิดใหม่ ที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม และอยากจะให้ของขวัญเป็นความสุขที่ส่งต่อได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวนทุกคนที่ตั้งใจมาร่วมแสดงความยินดีแก่บัณฑิต ในบรรยากาศเดิม ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม ให้บัณฑิตเป็นสะพานเชื่อมโยงโอกาสไปสู่สังคม มาร่วมกันส่งต่อความสุข ซึ่งบัณฑิตสามารถบริจาคสิ่งของได้โดยตรงกับมูลนิธิเด็กสตรีและคนพิการ , โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หรือมูลนิธิต่าง ๆ ได้ และนี่คือดีเอ็นเอของชาวธรรมศาสตร์ ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชิญชวนน้องๆ กลุ่มมัธยมศึกษา (เทียบเท่า) ร่วมประกวดสื่อสร้างสรรค์ "Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ" ปี 2

ถ้าคุณเป็นเยาวชนที่สนใจ...การใช้สื่อโซเชียลมีเดียบนโลกอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การโพสต์ และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้รับสาร ผู้ส่งต่อ

ธรรมศาสตร์ เปิดตัว 7 นวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งมอบ 'SIT-TO-STAND' ดูแลผู้สูงวัย กทม.

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัว “7 นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย” ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ Super Aged Society พร้อมมอบนวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER อุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

สร้างภูมิคุ้มกัน 'พลัดตกหกล้ม' 10-11 ก.ย.นี้ เชิญชมนิทรรศการ 7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อสังคมสูงวัย

เพราะทุกห้วงยามแห่งการร่วงหล่น มีหลายชีวิตพลัดหลงในกาลเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete

'เกษียร' แย้ง 'พุทธทาส' เมื่อไหร่เอาศาสนกิจมาเป็นเกณฑ์กำหนดการเมือง เมื่อนั้นจะได้เผด็จการโดยธรรม

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์อาวุโส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีไว้เพื่อ

'ธรรมศาสตร์' จัดงานครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย

“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” นำอ่านประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 ในงาน “ครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดรำลึกปฏิบัติการกอบกู้ชาติของ “ขบวนการเสรีไทย” จน