‘สช. ผนึก สวรส.’ ชักชวน ‘อบจ.นครราชสีมา-มรภ.นครราชสีมา-สสจ.นครราชสีมา’ พร้อมภาคีเครือข่าย เดินหน้าอภิบาลระบบสุขภาพปฐมภูมิ หลัง อบจ.โคราช รับถ่ายโอนฯ รพ.สต. มา 182 แห่ง ด้าน ‘เลอพงศ์’ มั่นใจ ศักยภาพท้องถิ่นช่วยจัดบริการดีขึ้น-มากขึ้น หวังจัดกำลังเต็มกรอบ S-M-L เพื่อให้ผู้บริการมีความสุข ขณะที่ ‘นพ.ปรีดา’ ชี้จากนี้เป็นโอกาสทลายข้อจำกัดเพื่อดูแลประชาชน
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นครราชสีมา) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัด และการพัฒนาพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น (Sandbox) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น และศึกษาบริบทความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. โดยมีภาคียุทธศาสตร์ร่วมเป็นสักขีพยาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า อบจ.นครราชสีมา มีนโยบายด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาคนให้มีคุณภาพ พัฒนาสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รอบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จึงได้รับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. 182 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาวะประชาชน จึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลไกการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น และการพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ซึ่งสอดคล้องนโยบายนายก อบจ.ที่วางเป้าหมาย
ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่น จ.นครราชสีมา เป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่าย จึงให้มีข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานหลัก และเห็นชอบลงนามในบันทึกข้อตกลงและร่วมประกาศเจตนารมย์สานพลังอำนาจในการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่อไป
นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) บรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายของการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่นในทศวรรษหน้า” ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก.ก.ถ. มองเห็นว่า หาก อปท. เข้ามาช่วยทำภารกิจในการจัดบริการด้านปฐมภูมิให้กับประชาชน เชื่อว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีและมากขึ้นกว่าเดิม จึงได้ดำเนินการผลักดันให้มีการถ่ายโอน รพ.สต.
นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่ ก.ก.ถ. อยากเห็นคือการบริการที่ดีขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหลักการตามแผนการกระจายอำนาจฯ คืองานไป เงินไป คนสมัครใจ และเมื่อผู้ให้บริการมีแรงจูงใจและมีความสุขในการทำงานก็จะทำให้ภาพนี้เป็นจริง และหากเทียบกับปี 51 ที่มีการถ่ายโอนฯ ให้กับ อปท.ขนาดเล็ก พบว่าการถ่ายโอนฯ ปี 66 มีความแตกต่างกัน คือเป็นการถ่ายโอนฯ ให้กับ อบจ. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และบุคลากรที่มากกว่า โดยที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยแล้วว่าอัตรากำลังที่เหมาะสมต่อการจัดบริการตามขนาด S-M-L คือ 7-12-14 แต่ในอดีตมีข้อจำกัดจนทำให้ไม่สามารถบรรจุตามกรอบได้ ทว่าปัจจุบันเมื่อมีการถ่ายโอนฯ มายัง อบจ.แล้ว พบว่า อบจ. มีศักยภาพสูงและสามารถนำคนมาใส่ตามกรอบนี้ได้ โดยตามแผนฯ กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
“นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ในปี 2542 เป็นต้นมา อยากชวนคิดว่า อปท. ได้ทำหน้าที่และภารกิจแทนราชการส่วนกลางทั้ง 22 กระทรวงเลยใช่หรือไม่ ในวันนี้ พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ระบุว่า ให้ อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการบริการประชาชนตามกฎหมายจัดตั้ง และให้ อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนตามกฎหมายกระจายอำนาจ หนึ่งในนั้นคือการรับถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต.มาบริหารจัดการ ฉะนั้นสิ่งที่ชวนคิดต่อและถือเป็นความท้าทายก็คือ อปท. ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมี พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้หน่วยบริการมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน ฟื้นฟู และรักษาเบื้องต้น” นายเลอพงศ์ กล่าว
ภายในงานเดียวกัน มีเวทีสานเสวนาหัวข้อ “พลังความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ จ.นครราชสีมา” โดยวิทยากรได้ร่วมกันฉายภาพสถานการณ์สุขภาพของ จ.นครราชสีมา รวมถึงนำเสนอมุมมองต่อการอภิบาลระบบ และการจัดบริการระดับปฐมภูมิให้กับประชาชน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาหน่วยบริการประจำ (CUP split)
นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบสาธารณสุขสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรักษาและฟื้นฟู โดยประชาชนสามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 2. การสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีมากตั้งแต่อดีต ตรงนี้จะลงไปที่สถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ซึ่งมีบทบาทสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมถึงการรักษาเบื้องต้น โดยแนวโน้มในอนาคตหลังจากมีการถ่ายโอนฯ พบว่า อบจ. ซึ่งมีจุดแข็ง มีความคล่องตัว เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและทำงานเป็นเนื้อเดียวกันได้
“ช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนฯ จำเป็นต้องดูแลซึ่งกันและกัน โดย นพ.สสจ.นครราชสีมา มีนโยบายว่า ประชาชนต้องไม่ได้รับการผลกระทบจากการถ่ายโอนฯ และเมื่อถ่ายโอนฯ ไปแล้ว ประชาชนต้องได้รับบริการที่ดีกว่าเดิม การส่งต่อ-ประสานงานระหว่างกันต้องเป็นเนื้อเดียวกัน” นพ.รักเกียรติ กล่าว
รศ.ดร.ธนิดา ผาติเสนะ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยกับการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น ตอนหนึ่งว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 พูดถึงการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมที่เป็นประเด็นระดับโครงสร้างสำเร็จ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงส่งผลให้การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการชวนคนมาทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
รศ.ดร.ธนิดา กล่าวอีกว่า โดยภาพกว้างแล้ว ปัญหาสุขภาพคนไทยในปัจจุบันประกอบด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ฉะนั้นการส่งเสริมสุขภาพชุมชน ระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า พฤติกรรมสุขภาพมีความสำคัญ ซึ่งงานวิจัยช่วยให้การพัฒนาตรงตามความต้องการและปัญหาของพื้นที่ ที่ผ่านมา มรภ.นครราชสีมา จึงได้ทำงานวิจัยในระดับพื้นที่จำนวนมาก โดยเริ่มจากการทำพื้นที่ต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ก่อนจะยกระดับขึ้น ส่วนการสนับสนุนการถ่ายโอนฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตบุคลากร คาดว่าภายใน 2 ปี จะช่วย อบจ. ได้
พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 กล่าวถึงทิศทางการจัดระบบริการสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า หลักใหญ่ใจความของ สปสช. คือเราจะขับเคลื่อนหรือบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพ เป้าหมายหลักจะสอดคล้องกับการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) คือเมื่อประชาชนมีสุขภาพดีก็จะใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยลง เรื่องครัวเรือนล้มละลายหรือความยากจนก็จะลดน้อยลง
ทั้งนี้ เมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว ประการแรกคือจะยกระดับการจัดบริการของ รพ.สต. อย่างไร ประการถัดมาคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดี มีคุณภาพ มีระบบบริการที่เชื่อมโยง รวมถึงเรื่องบริการปฐมภูมิและการดูแลต่อเนื่อง และประการสุดท้ายคือจะทำอย่างไรให้ รพ.สต. รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอื่นๆ อยู่ได้
“หน้าที่ของ สปสช. คือจะทำอย่างไรให้ระบบอยู่ได้ หน่วยบริการอยู่ได้ เมื่อท่านให้บริการไปแล้วเราก็จะดำเนินการจ่ายชดเชย แต่เท่านั้นไม่พอ เราต้องดูต่อด้วยว่าประชาชนได้รับบริการหรือไม่ เข้าถึงบริการหรือไม่ คุณภาพดีหรือไม่” พญ.สาวิตรี กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สช. กล่าวถึงนโยบายสาธารณะการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นระดับจังหวัด กล่าวว่า อยากชวนมองภาพใหญ่ร่วมกัน ไม่ว่า จ.นครราชสีมา จะจัดการบริการ CUP split หรือไม่ก็ตาม หากแต่การถ่ายโอนฯ ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี กล่าวคือหากในอดีตมีข้อจำกัดเรื่องการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย-หลักเกณฑ์ ฯลฯ ประเด็นคือเราจะใช้โอกาสที่มีการถ่ายโอนมาสู่ท้องถิ่นซึ่งมีสายบังคับบัญชาสั้น มีคนเงินของ มาทลายข้อจำกัดในอดีตได้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือการทำงานยังจำเป็นต้องอาศัยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สสจ. มาช่วยกำกับคุณภาพ วิชาการ เพื่อตอบโจทย์ประชาชน
“สิ่งสำคัญคืออย่าไปคิดว่าอำนาจจะอยู่ที่ใคร แต่ต้องมองว่าจะตอบสนองประชาชนให้ดีที่สุดได้อย่างไร เมื่อเอาประชาชนเป็นตัวตั้งแล้ว โจทย์ของพื้นที่จะเป็นอย่างไร” นพ.ปรีดา กล่าว
นพ.ปรีดา กล่าวต่อไปว่า สช. คาดหวังที่จะเข้ามาสานพลังภาคีในมิติต่างๆ ที่ยังเป็นรอยต่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมี สวรส. ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองด้านระบบสุขภาพให้การสนับสนุน เพื่อชวนคิดชวนแสวงหาโอกาสร่วมกัน ซึ่ง “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ.” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. เพื่อค้นหาแนวทางของการทำให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นภายหลังได้รับการถ่ายโอนฯ มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ท้องถิ่นมาบริหารจัดการ และ สสจ. มาเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งทุกฝ่ายจะมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้วยกัน
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชัดเจนว่า จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง มีองค์ความรู้และถือเป็นแล็บปฏิบัติการด้านสาธารณสุขให้กับประเทศมาโดยตลอด เกิดเป็นโมเดลด้านสุขภาพจำนวนมาก และปัจจุบันพบว่า อบจ.นครราชสีมา มีนโยบายการดูแลสุขภาพที่ชัดเจน และมี สสจ.นครราชสีมา ช่วยสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงได้คัดเลือกเป็น 1 ใน 6 จังหวัด ที่เข้ามาศึกษาภายใต้โครงการการศึกษาฯ โดยผลผลิตที่เราจะได้จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางด้านวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ประเด็นสำคัญคือการทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.” นพ.ปรีดา กล่าว
อนึ่ง ภายใต้พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ยังได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น เพื่อระดมความคิดเห็นข้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 แห่ง คือ รพ.สต.โตนด และ รพ.สต.ตลาดแค โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ อปท. แกนนำชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทั้ง 2 พื้นที่เข้าร่วม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมัคร นายก อบจ.ประจวบฯ 'วิชิต' มือทำงานธรรมนัส ดัน ลูกชายชนแชมป์เก่าฯ
การรับสมัครนายกอบจ.เเละสมาชิกสภาจังหวัด(สจ.)ที่อาคาร อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเปิดรับสมัครวันนีั-27ธค.
‘กกต.’ ไม่หวั่นการเมืองหนุนผู้สมัคร อบจ. ชี้ทำบรรยากาศเข้มข้น ไร้สัญญาณรุนแรง
การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นรากฐาน ของการพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ถ้าท้องถิ่นดีระดับชาติก็จะดีไปด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
ลบคำสบประมาท! หมอสงค์วัย 88 ปี ท้าชิงนายกฯ อบจ.นครพนม
นครพนม “หมอสงค์” เสือไม่ทิ้งลาย 88 ปียังแจ๋ว ประกาศชิงนายก อบจ.นครพนม ลงสมัครพร้อมสมาชิกในนามทีมอิสระ พร้อมนำประสบการณ์ทำงานการเมืองหลายสมัยมาใช้
พรุ่งนี้ผ่านฉลุย รับสมัครเลือกตั้งอบจ.ทั่วประเทศ
'แสวง' มั่นใจ 'ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง' เอาอยู่ คุมรับสมัครเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศพรุ่งนี้ มอง มีกติกา ทุกคนอยู่ในกรอบเดียวกัน เชื่อ ไม่น่ามีเหตุรุนแรง
การเมืองท้องถิ่น อบจ.ปัตตานี ยังคงดุเดือด คาด 4 ทีมลงสนามชิงชัย
ผู้สื่อข่าวปัตตานีรายงานความเคลื่อนไหวสถานการณ์การเมืองท้องถิ่น อบจ.ปัตตานี ซึ่ง