'เศรษฐา' โอ่ 'ดิจิทัล วอลเล็ต-แลนด์บริดจ์' บนเวทีสุดยอดเอเปก!

นายกฯ ปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก ย้ำถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในไทยให้มากขึ้น พร้อมชู 3 ด้านสำคัญ 'ความยั่งยืน-เทคโนโลยีและนวัตกรรม–การค้าและการลงทุน'

16 พ.ย.2566 - เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจําปี 2566

นายกฯ เริ่มต้นการกล่าวปาฐกถาด้วยการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย โดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

นายเศรษฐากล่าวว่า เอเปกถือเป็นภาคส่วนที่ทรงพลัง เป็นที่ตั้งของประชากรมากกว่าหนึ่งในสามของโลก และสามารถสร้างการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอเปกประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการเปิดการค้าและการลงทุน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกับชุมชนธุรกิจ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกับ ABAC ซึ่งถือเป็นความพิเศษและเป็นรากฐานสำหรับความสำเร็จร่วมกันในปัจจุบัน

นายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ดังนี้ด้านความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งผู้นำเอเปกทุกคนได้นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นอย่างมาก และไทยยินดีที่ได้มีบทบาทนำต่อเอกสารสำคัญฉบับนี้ ซึ่งในปีนี้ สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพเอเปก ได้สานต่อ ทำให้การบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯประสบความสำเร็จและมีความสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัว BCG Pledge โดย ABAC ซึ่งกระตุ้นให้ทุกบริษัทต้องลงนามและมีส่วนร่วม รวมทั้งยินดีที่ได้ทราบว่า NCAPEC (National Center for APEC) ได้จัดการประชุม Sustainable Future Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย พร้อมหวังว่าจะมีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทั้งนี้ ไทยมีความภาคภูมิใจในความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 และด้วยเหตุนี้ ไทยจึงส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตร พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability -Linked Bonds) เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว ขณะเดียวกันสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เป้าหมายคือการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด นอกจากนี้ จะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ หลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และการขยายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวว่า ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เช่น generative AI, Blockchain และ Internet of Things (IoT) กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ กระบวนการผลิต และชีวิตประจำวัน ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเติบโต การร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงโอกาสได้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกัน ต้องลงทุนและปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้พลเมืองมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการทำงานร่วมกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และการวิจัยระดับแนวหน้าเพื่อปูทางไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต

นายเศรษฐากล่าวว่า โดยในประเทศไทย รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ด้านการค้าและการลงทุน เอเปกมีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน ซึ่งตัวเลขสะท้อนเป็นผลในตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าทั่วทั้ง APEC เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าภายในสองทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001 เป็นจำนวนกว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับพันธมิตรของเราอีกด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาห่วงโซ่อุปทานให้เปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางกายภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจของเรานอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

ในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’! โชว์วิสัยทัศน์ เวทีผู้นำเอเปก

จับตา "นายกฯ อิ๊งค์" โกอินเตอร์! บินลัดฟ้าสหรัฐ ไม่ได้พบตัวแทนทำเนียบขาว แต่ไปเจอทีมไทยแลนด์ มอบนโยบายขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกา

นายกฯอิ๊งค์ เตรียมบินไปสหรัฐ ร่วมประชุมเอเปก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมการประชุมผู้นำประเทศ