อดีตนายกแพทยสภา เล่าอีกหนึ่งความเสี่ยงในชีวิตของแพทย์ใช้ทุน

12 พ.ย.2566-ศ.คลินิกนพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “อีกหนึ่งความเสี่ยงในชีวิตของแพทย์ใช้ทุน” ระบุว่า คดีนี้เริ่มจากแพทย์ที่จบมาปีครึ่งถูกตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มีแพทย์เพียงคนเดียวโดยต้องตรวจคนไข้วันละร้อยกว่าคนด้วย มีเจ้าหน้าที่ทุจริตเป็นเงินหลายล้านบาทและหน่วยงานเห็นว่าแพทย์มีส่วนต้องรับผิด เนื่องจากมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 ประกอบมาตรา 10 โดยให้ชดใช้เป็นเงินกว่าครึ่งล้านบาท แพทย์จึงฟ้องหน่วยงานของรัฐนั้นต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้แพทย์ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้แพทย์ชดใช้ครึ่งหนึ่ง แพทย์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ความเสียหายเกิดจากความบกพร่องของหน่วยงานและระบบการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ แพทย์จึงควรรับผิดชอบเพียงครึ่งหนึ่ง  อีกทั้งเมื่อคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมกรณีที่แพทย์เพิ่งจบการศึกษามาเพียงปีครึ่ง ไม่เคยได้รับการอบรมในเรื่องการบริหาร กฎหมาย การเงิน การบัญชีมาก่อนเลยและต้องตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยถึงวันละร้อยกว่าคน อีกทั้งเหตูการณ์ก็เริ่มต้นเกิดมาก่อนที่แพทย์จะมาปฏิบัติงานถึง 4 เดือนและยังเกิดต่อเนื่องหลังจากแพทย์พ้นหน้าที่ไปแล้วอีก 1 ปีถึงจับได้ จึงให้รับผิดชอบเพียง 25% ของครึ่งหนึ่งที่หน่วยงานมีคำสั่งให้ชดใช้ (ซึ่งเท่ากับ12.5% ของจำนวนเงินที่หน่วยงานมีคำสั่งให้ชดใช้) รวมเป็นเงิน 68,750 บาท

ชีวิตของแพทย์ใช้ทุนนั้นมีความเสี่ยงอยู่แล้วอย่างมากมายเช่น  การถูกฟ้องคดีอาญาเมื่อรักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิต ดังที่แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 เคยถูกควบคุมตัวระหว่างรอประกันตัวและต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกแพทย์ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งกว่าคดีจะสิ้นสุดในศาลสูงด้วยการยกฟ้อง แพทย์ก็ต้องประสบความยากลำบากในชีวิตที่ต้องต่อสู้คดีด้วยความทุกข์อยู่เป็นเวลานาน

การถูกไล่เบี้ยเมื่อกระทรวงสาธารณสุขแพ้คดีแพ่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับป่วยหรือทายาทในกรณีมีปัญหาที่ผู้ป่วยเกิดภาวะไม่พึงประสงค์หรือเสียชีวิตในการตรวจรักษาของแพทย์ ซึ่งก็มีถูกไล่เบี้ยหลายรายแล้ว

ความวิตกกังวลในการตรวจรักษาผู้ป่วยที่ยังต้องได้รับการฝึกสอนอีกมาก รวมทั้งบางครั้งก็มีปัญหาในการทำงานร่วมกับรุ่นพี่ๆ และการสอนของพี่ๆ การถูกทำร้ายหรือคุกคามจากผู้ป่วยหรือญาติเนื่องจากความกดดันในภาระงานการตรวจรักษาที่ล้นมือทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติจนเกิดการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ของทั้งสองฝ่าย การถูกร้องเรียนต่อแพทยสภาในเรื่องมาตรฐานการรักษาเนื่องจากขาดความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการตรวจรักษาผู้ป่วยทำให้เกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น

แล้วยังมีคดีนี้เกิดขึ้นอีก ที่แพทย์ต้องมาทนทุกข์ใจอยู่เป็นเวลาหลายปีจากการต่อสู้คดีกับหน่วยงานขนาดใหญ่มาก ที่แพทย์เองก็เคยทำงานอยู่ ซึ่งผมเห็นใจน้องมากเพราะแม้จะจบลงแบบผู้ชนะ แต่ก็ไม่ชนะเด็ดขาด ถึงจะไม่ต้องจ่ายเงินถึงครึ่งล้านกว่าตามที่หน่วยงานมีคำสั่งเรียกมา แต่ก็ต้องจ่ายหลายหมื่น ซึ่งถ้ารวมค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีแล้วก็จะเป็นก้อนใหญ่พอสมควร

ผมจึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้โปรดแก้ไขในทุกๆ เรื่องที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงให้กับแพทย์ใช้ทุนของท่านลงให้เหลือน้อยที่สุด มิฉะนั้นต่อไปในอนาคตอาจจะไม่เหลือแพทย์ใช้ทุนทำงานดูแลรักษาประชาชนให้กระทรวงสาธารณสุขอีกเลยนะครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดี เจอร์ราร์ด' ขอโทษแฟนๆ หลังป่วยเส้นเสียงอักเสบ แพทย์งดใช้เสียง 7 วัน

ใจพร้อมเกินร้อยแต่ร่างกายยังไม่สามารถไปมอบความสุขให้แฟนๆได้ สำหรับนักร้องหนุ่มมาแรง บิ๊ก D Gerrard (ดี เจอร์ราร์ด) หรือ ไบรอัน เจอร์ราร์ด อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบียล ที่ล่าสุดทางต้นสังกัด Wayfer Records ได้โพสต์แถลงการณ์ถึงอาการป่วยของเส้นเสียงที่อักเสบและเป็นแผลบริเวณกล่องเสียง รวมถึงกล้ามเนื้อคออักเสบ

สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

สธ.เตรียม 6 มาตรการรับอุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง

‘เกณิกา’เผย กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 มาตรการ เตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย 35 จังหวัดเสี่ยง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล

'ก้อง ปิยะ-หมอก้อง' นำทีมดาราจิตกุศล-แพทย์-พยาบาล บริการสาธารณสุขผู้ห่างไกล

โครงการ "ตั้งใจทำ" นำโดย ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล, พันโท สรวิชญ์ สุบุญ (หมอก้อง), ชาตรี อุดมวิทย์ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัท พอนด์เคมิคอล จำกัด(Masa Lab) ร่วมด้วยทีม แพทย์-พยาบาล-เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ ดารานักแสดงจิตกุศล