แพทย์คลินิกมลพิษทางอากาศ เตือนผู้ที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด แนะคนกรุงเทพฯสังเกตเฝ้าระวังอาการและตรวจเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน
09 พ.ย.2566 - แพทย์หญิงธนินท์ธร สินสมบูรณ์ทอง แพทย์อายุรกรรมโรคเลือด หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวเตือนประชาชนในกรุงเทพมหานครว่า ประมาทเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มที่ฝุ่น PM 2.5 อาจจะสูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นอยากให้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดจากฝุ่น PM 2.5 ในช่วงนี้ด้วย โดยให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่ฝุ่นเยอะ และหมั่นตรวจเช็คคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์ต่างๆที่ทางรัฐบาลรายงาน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งได้ แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย N 95 สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมพื้นผิวร่างกายให้มิดชิดมากที่สุด เพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่น เมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำชำระล้างฝุ่นออกไป เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อบุต่างๆ และดื่มน้ำมากๆ
อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ อาการระบบทางเดินหายใจ หายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด มีน้ำมูกใส ไอ น้ำตาไหล มีผื่นแพ้คันขึ้นตามผิวหนัง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้รีบมาโรงพยาบาลพบแพทย์ สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ เด็ก และผู้สูงอายุ กลุ่มนี้หากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เสี่ยงมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น เนื่องจากอาการมักจะควบคุมไม่ได้ อาการจะยิ่งกำเริบหนักขึ้น
สำหรับสถิติผู้ป่วยล่าสุดที่เข้ารับการรักษากับคลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 65 - 30 ก.ย.66) รวม 692 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัวสูงถึง ร้อยละ 90.4 โดยเป็นผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรค/อาการเกี่ยวกับตา เดือนที่มีผู้ป่วยเฉลี่ยสูงสุด คือ เดือนมกราคม ถึงเดือน มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมาก โดยเดือนมกราคม มี 180 ราย รองลงมา เดือนกุมภาพันธ์ มี 151 ราย และ เดือนมีนาคม มี 100 ราย
นายพีระยุทธ สุขแก้ว นักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่า นอกจากในส่วนของการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยของแพทย์แล้ว คลินิกมลพิษทางอากาศยังได้ร่วมกับสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่นรวมถึงแกนนำสุขภาพในชุมชน เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ในชุมชนร่วมกันในรูปแบบ Bangkok Health Zoning โดยมุ่งเน้นการตรวจวัดและแจ้งเตือนค่าฝุ่นประจำวัน การลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเสี่ยง (เด็ก สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว) และการเฝ้าระวังติดตามค่าฝุ่นในสถานประกอบการ โดยการเรียนรู้ค่าฝุ่นประจำวัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 มีการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ค่าฝุ่นประจำวันผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา “คลินิกมลพิษทางอากาศออนไลน์” เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น ซึ่งในแอปพลิเคชัน “คลินิกมลพิษทางอากาศออนไลน์” ประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โคด เพื่อดูผลการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ประจำวันได้ สามารถเข้าไปเรียนรู้แนวทางป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 รวมถึง สามารถเข้าไปประเมินอาการตนเองเบื้องต้น โดยจะมีพยาบาลอาชีวอนามัยทำหน้าที่โทรศัพท์ไปประเมินอาการเบื้องต้นก่อน หากมีอาการที่รุนแรงหรือเข้าข่ายที่ต้องพบแพทย์ ก็จะนัดมาพบแพทย์ต่อไป
สำหรับคลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เปิดให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ทุกวันในวันและเวลาราชการ รวมถึงให้บริการพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและติดตามอาการทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 13.00 - 15.00 น. ที่ชั้น 22 อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. 0 2289 7221 หรือ เฟซบุ๊ก กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนกรุงอ่วม! ลมหนาวไม่มาแต่ฝุ่นพิษมาทุกพื้นที่
เพจกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
คนกรุงเทพฯ 13 พื้นที่ จมฝุ่นพิษ เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร : ประจำวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร
คนกรุงทนร้อนอย่างเดียว! อากาศอยู่ในเกณฑ์ดี
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา
คนกรุงสูดอากาศได้เต็มปอดคุณภาพอากาศดี
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา
ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน