'THAIVOTE.io' แพลตฟอร์มเลือกตั้งออนไลน์ ใช้ 'บล็อกเชน' ทลายข้อจำกัดพื้นที่นวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ ที่ป้องกันโกงได้จริง

‘บล็อกเชน’ (Blockchain Technology) เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลชั้นสูง ได้รับการหยิบยกมาต่อยอดเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรง การใช้ ‘บล็อกเชน’ เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง ถือเป็นแนวโน้มหรือเป็นเทรนด์ของยุคสมัย ปัจจุบันมีหลากหลายประเทศที่นำมาใช้

ตัวอย่างเช่น ‘สหรัฐอเมริกา’ มีการศึกษาทดลองเทคโนโลยีบล็อกเชนกับระบบเลือกตั้ง โดยใช้กับการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย เมื่อปี 2561 และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของยูทาห์เคาน์ตี้ ในปี 2563 โดยเปิดให้ Absentee Voter หรือผู้ไม่สามารถไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งลงคะแนนผ่านมือถือบนบล็อกเชนได้

ในปี 2561 ‘เซียร์ราลีโอน’ ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้นำบล็อกเชนมาใช้ในการบันทึกผลคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเฉพาะในเขตตะวันตก และในปี 2563 ณ เมือง Tsukuba ‘ญี่ปุ่น’ ได้นำบล็อกเชนมาใช้ในการลงคะแนนเสียงในท้องถิ่น ภายใต้ระบบ My Number ที่จะมุ่งสู่การเป็น Smart City

‘รัสเซีย’ มีโครงการศึกษาทดลองระบบเลือกตั้งบล็อกเชนหลายระดับ โดยปี 2563 ได้เปิดให้เลือกตั้งผ่านบล็อกเชนใน 2 มณฑล คือ Kursk and Yaroslavl ขณะที่ ‘อินเดีย’ คณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับ IIT Madras ศึกษาระบบเลือกตั้งออนไลน์เพื่อความสะดวกในการเลือกตั้ง โดยเน้นเทคโนโลยีบล็อกเชน

ล่าสุด เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ‘เกาหลีใต้’ ทุ่มงบประมาณถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชน ร่วมกับ IBM เช่นเดียวกับ ‘กรีนแลนด์’ ที่วางแผนพัฒนาระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงคะแนนที่อยู่ในที่ห่างไกล

แม้ว่ารูปแบบการนำบล็อกเชนมาใช้จะแตกต่างกันออกไปตามบริบทของประเทศนั้นๆ หากแต่ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสการลงคะแนนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทลายข้อจำกัดเรื่องความล่าช้าและความผิดพลาดในการนับคะแนน ที่สำคัญคือช่วยลดปัญหาการโจมตีระบบเลือกตั้ง ป้องกันการแทรกแซงผลเลือกตั้ง

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ ได้คิดค้น พัฒนา และออกแบบการใช้บล็อกเชนในการเลือกตั้ง ในชื่อโครงการ “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” ซึ่งมีการนำร่องทดลองใช้จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่น่าสนใจ

สำหรับการพัฒนา “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” ธรรมศาสตร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2560 ภายใต้งบประมาณจากกรมพลศึกษา จากนั้นมีการปรับปรุงและใช้เป็นทางการเมื่อปี 2562 ในการเลือกตั้ง ‘คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี’

ธรรมศาสตร์ได้ลงนามความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด จัดการลงคะแนนสรรหาประธานกรรมการ กรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการผ่านระบบเลือกตั้งออนไลน์ด้วยบล็อกเชนเป็นครั้งแรก และดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน

“ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีหน่วยเลือกตั้งกระจายเกือบ 30 หน่วย บางแห่งอยู่บนพื้นที่เกาะ ทำให้การจัดการค่อนข้างลำบาก ใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งแต่ละปีค่อนข้างสูง และสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ บางส่วนไม่สามารถมาลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งได้ทันเวลา ผู้บริหารสหกรณ์ฯ จึงร่วมมือกับธรรมศาสตร์ในการสร้างระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนที่สมาชิกสหกรณ์ฯ สามารถลงคะแนนได้สะดวก การนับคะแนนมีความถูกต้อง รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ” ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ หนึ่งในทีมผู้วิจัย เล่าถึงข้อจำกัดเชิงพื้นที่ในอดีต

ศ.ดร.อาณัติ เล่าต่อไปว่า ระบบเลือกตั้ง THAIVOTE.io เป็นนวัตกรรมที่แตกต่างจากระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ซึ่งระบบเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นระบบแบบรวมศูนย์ ทำให้อาจมีข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส โดยระบบอาจถูกโจมตีจากภายนอก ผู้ดูแลระบบหรือส่วนกลางอาจเข้าถึงฐานข้อมูลการลงคะแนน ทำให้ผลคะแนนบิดเบือนได้

ทว่า ระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชน ข้อมูลจะถูกเข้ารหัสและจัดเก็บแบบกระจายศูนย์บนบล็อกเชนสาธารณะ ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในแต่ละ Node เมื่อถูกยอมรับจากเครือข่ายแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูง น่าเชื่อถือ การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายบนบล็อกเชนไม่ต้องอาศัยตัวกลาง

“การเลือกตั้งบนบล็อกเชนจะช่วยลดปัญหาการโจมตีระบบเลือกตั้ง ป้องกันการแทรกแซงผลเลือกตั้ง ข้อมูลการออกเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นความลับไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน และช่วยขจัดปัญหาความล่าช้าและความผิดพลาดในการนับคะแนน เพิ่มความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งหน่วยงานที่จัดเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเสียง” ศ.ดร.อาณัติ อธิบาย

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นำไปสู่การขยายผลไปยังการเลือกตั้งอื่นๆ โดยที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้จัดการเลือกตั้งออนไลน์ผ่าน THAIVOTE.io ให้กับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงยุติธรรม จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด

สำหรับกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งหมดจะถูกควบคุมผ่านโปรแกรมบนบล็อกเชน ซึ่งมีการกำหนดข้อมูลผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ผู้สมัคร วันเวลาเริ่มต้น-สิ้นสุดการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงวันลงคะแนนระบบจะทำงานอัตโนมัติ ผู้มีสิทธิ์สามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คลงคะแนนผ่านเว็บไซต์ โดยยืนยันตัวตนก่อนลงคะแนนได้หลายวิธี เช่น ใช้รหัสผ่าน ยืนยันด้วย OTP จากเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ รวมถึงการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนและใบหน้า เมื่อสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง ระบบปิดอัตโนมัติ เมื่อข้อมูลจัดเก็บบนบล็อกเชนครบถ้วนแล้วสามารถประกาศผลได้ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที

ผลงาน “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมของประเทศไทย และล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลชมเชยจากการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ปี 2566 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. บอกว่า การพัฒนา “ระบบเลือกตั้งออนไลน์บนบล็อกเชนผ่าน THAIVOTE.io” นับเป็นรูปธรรมภายใต้ภารกิจการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากการประยุกต์ในวงการการเงินแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีศักยภาพที่จะนำไปใช้สร้างนวัตกรรมทางสังคม หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างสังคมที่มีความทันสมัยและเป็นธรรมด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหนื่อยแน่! เพื่อไทย รับต้องปรับยุทธศาสตร์ หลังผลโพลตามหลังก้าวไกล

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลนิด้าโพลเปิดผลโพลในไตรมาส 2 ที่ ปรากฏว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ พรรค

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

‘พิธา’ แสลงหู ‘สว.สีส้ม’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร

‘พิธา’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร หลังเลือก สว. ผุดคำว่า ‘สว.สีส้ม’ เชื่อส้มในที่นี้คือ ‘จุดยืนประชาธิปไตย’ ย้ำหลักกฎหมายพรรคการเมืองเอี่ยวไม่ได้ มองจะได้สภาสูงที่มีคุณภาพ แม้ไม่ใช่เลือกตั้งทางตรง

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

'อนาคตไกล' ขยับเปิด 6 นโยบายบริหารพรรค หวังคว้าที่นั่งในสภา

นายภวัต เชี่ยวชาญเรือ โฆษกพรรคอนาคตไกล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2567 ตัวแทนผู้บริหารระดับสูงของพรรค นายภาณุวัฒน์ เอกพลกุล นายทะเบียนสมาชิกพรรคและคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย