6 พ.ย. 2566 – นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของโครงการเขื่อนในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ นครนายก และปราจีนบุรี ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ในปี พ.ศ.2548 ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในแผนการก่อสร้างทั้งหมดคือ 7 เขื่อน ซึ่งหากทำตามแผนทั้งหมดพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่จะหายไปถึง 16,000 ไร่
นางสาวอรยุพา ยังได้ตั้งคำถามถึงภาครัฐว่า ตามที่สหประชาชาติประกาศว่า ตอนนี้โลกเราไม่ได้อยู่ในภาวะโลกร้อนแต่เราอยู่ในภาวะโลกเดือด เราไม่ได้อยู่ในภาวะปกติอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเรายังสามารถที่จะสามารถบริหารจัดการการน้ำแบบเดิม และปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบที่เราไม่เคยเจอกันมาก่อนได้อยู่หรือไม่
ขณะที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ตนคืนคนที่ร่วมต่อสู้กับพี่น้องเพื่อปกป้องผืนป่ามาตลอด 30 ปี จนมีชื่อเรียกว่า วิทยาศาสตร์พลเมือง นั่นคือเราทุกๆ มีเครื่องมือที่แสนวิเศษในตัวเราคือ สายตา ขา และมือของเรา ออกไปช่วยกันสำรวจดูว่าเรามีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่บ้าง พอได้ฟังว่าคลองมะเดื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ฝั่ง จ.นครนายก มีปูหินน้ำตกที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก จึงอยากนัดหมายนักธรรมชาติวิทยาและผู้ที่สนใจมาช่วยกันสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ระบบนิเวศคลองมะเดื่อ เพื่อให้คนมารู้จักว่าสิ่งมีชีวิตที่นี่มีค่าขนาดไหน และเป็นการส่งสารไปบอกกับรัฐบาลและสังคมด้วย
ด้าน นายโสภณัฐต์ กิ่งผา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสาริกา แกนนำชุมชนบ้านคลองมะเดื่อ เล่าถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า ทุกครั้งที่มีการประชุมกับกรมชลประทานที่ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่รู้ว่าจะต้องบันทึกภาพวีดีโอ พอชาวบ้านยกมือคัดค้าน บริษัทที่ปรึกษาฯ ถ่ายภาพนิ่งไปบิดเบือนเป็นชาวบ้านเห็นด้วย แต่ไม่มีหลักฐาน เพราะภาพนิ่งบ่งชี้ไม่ได้ว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พอร้องไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนเขาก็ถามหาหลักฐาน และที่สำคัญจำนวนคนที่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนมะเดื่อที่ระบุในรายงานผลกระทบฯ ว่าเห็นด้วย 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 5 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นตัวเลขที่กรมชลประทานเอาคนตำบลอื่น ๆ เข้ามารวม พอถามชุมชนอื่นว่าจะสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อแล้วส่งน้ำมาให้เอาไหม ทุกคนเอาอยู่แล้ว เขาไปเอาผู้ได้รับประโยชน์มารวมกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างเรา มันไม่เป็นธรรมกับคนคลองมะเดื่อ ชาวบ้านเราเสียพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เสียโอกาส เสียชุมชน เสียต้นไม้ ป่าไม้จำนวนมาก ด้านในยิ่งมีความหนาแน่น
“อย่างปีบทองเขาบอกว่ามันเป็นไม้อนุรักษ์ที่สำรวจพบ 1 – 2 ต้น แต่ชาวบ้านเราพบจำนวนมากในป่าของเรา ปู ปลา ไม่มีสูญพันธุ์เพราะเราจับเฉพาะตัวเต็มวัย ที่สำคัญคือร่องน้ำคลองมะเดื่อไม่ได้มีน้ำตลอดทั้งปีนะครับ สันเขื่อน 80 เมตรจะเอาน้ำที่ไหนมาเติม น้ำมีเท่านี้ จะเอาน้ำตรงไหนไปผลักดันน้ำเค็ม คุณสร้างใหญ่แต่น้ำไม่มี มันก็เสียป่า เสียประโยชน์ เสียงบประมาณ ผมมองแล้วว่าไม่น่าจะคุ้มค่าในการก่อสร้างกับสิ่งที่ต้องเสียไป ขอขอบคุณทุกหน่วยและทุกกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องคลองมะเดื่อ และขอให้ช่วยต่อไป” นายโสภณัฐต์ กล่าว
สอดคล้องกับนางระตะนะ ศรีวรกุล จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี นายจันทรานนท์ ชญานินศิวกูร ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนทับลาน และนายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ที่ได้แสดงความคิดเห็น ไปในแนวทางเดียวกันว่า หากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 7 แห่ง ในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะต้องสูญเสียป่าไปมากมาย ด้วยเหตุผลเดียวคือเพื่อจัดการน้ำเพื่อการเกษตร แต่เกษตรกรไม่ใช่ผู้ใช้น้ำ เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นใหม่กว่า 100 ไร่ เพื่อรองรับการใช้น้ำ นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังมีผลกระทบต่อช้างป่า โดยเฉพาะหากหากสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ จะเกิดการเคลื่อนตัวของช้างป่าอาจจะมีปัญหากับชาวบ้าน
“เรากำลังทำเรื่องการศึกษาการจัดการน้ำในศตวรรษที่ 21 ในโลกที่มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่อาจจัดการน้ำแบบทำลายระบบนิเวศได้อีกแล้ว วันนี้มันมีหลายพื้นที่ที่ควรจะฟื้นฟูแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น ทุ่งน้ำ หนอง บึง ป่าทาม ทั้งที่มันเป็นพื้นที่เก็บน้ำที่ชาวบ้านได้ประโยชน์เต็ม ๆ ไม่มีใครเสียประโยชน์ นี่จะเป็นอีกงานหนึ่งที่จะเสริมการต่อสู้การรักษาพื้นที่ป่าและพื้นที่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำของเรา” นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มอนุรักษ์ ยื่นกมธ. ค้านสร้างเขื่อนรอบป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กว่า 10 โครงการ
นายสุธีร์ รัตนมงคลกุล นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ผนึกกำลังตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี รวมถึงเครือข่ายนักอนุรักษ์ ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพหาชมยาก ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค งานฉลองพระนครครบ 150 ปี
นายพฤฒิพล ประชุมผล นักอนุรักษ์ นักวิชาการ ในฐานะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ภาพหาชมยาก
ชวนร่วมงาน “เขาใหญ่ คาร์ ฟรี เดย์ 2024”
“เขาใหญ่” ผนึกพลังภาคีเครือข่าย ประกาศปิด 22 ก.ย. 67 ชวนร่วมงาน “เขาใหญ่ คาร์ ฟรี เดย์ 2024” วันปลอดรถ ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่าพันคน ไฮไลต์แฟนซีรักษ์โลก
คนเขาใหญ่ นัดสร้างปรากฏการณ์ ‘เดิน วิ่ง ปั่น' ขึ้นเขาใหญ่ สูดอากาศดินแดนมรดกโลก
กิจกรรม เดิน วิ่ง ปั่น ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย. ซึ่งตรงกับ คาร์ฟรีเดย์ วันปลอดรถโลก วันปลอดมลพิษทางอากาศ (WORLD CAR FREE DAY)
'เทพไท' ชี้ภาพ 'ทักษิณ' ร่วมก๊วนกลุ่มทุน-นักการเมืองที่เขาใหญ่เหยียบหัวใจคนไทย
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท เสนพงศ์-คุย -การเมือง”
ชื่นมื่นสุดสัปดาห์ ‘ทักษิณ-อนุทิน-สารัชถ์’ ออกรอบตีกอล์ฟเขาใหญ่ ‘สุวัจน์-รมต.-สส.พท.’ ร่วมแจม
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เขาใหญ่ จ. นครราชสีมา ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใด้ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์