บอร์ด รฟท. เคาะงบ 34 ล้าน จ่ายเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารรถไฟ หลังตำรวจรถไฟถูกยุติบทบาท รฟท. การันตีผู้โดยสารอุ่นใจในการใช้บริการ ได้มาตรฐานเหมือนเดิม ลุยติดตั้งกล้องCCTV เสริมมาตรการดูแลความปลอดภัย
1 พ.ย.2566-นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบจ่ายเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เบี้ยเลี้ยงทำขบวนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ จำนวน 34 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ต.ค.66-ต.ค.67 ภายหลังจากกองบังคับการตำรวจรถไฟถูกยุบตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ทั้งนี้เบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้จัดเจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามอัตราเดิมประมาณ 200-300 นาย โดยการจ่ายเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจะจ่ายตามจริง แต่ไม่เกินวงเงิน 34 ล้านบาท
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่จะมีการยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ(บก.รฟ.) ทาง รฟท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย บช.ก. จะเข้ามาช่วยรับผิดชอบดูแลสถานีรถไฟ บนขบวนรถไฟ และพื้นที่ต่างๆ ของ รฟท. ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ จึงขอให้ผู้โดยสารมั่นใจ และอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการรถไฟ ทั้งภายในขบวนรถทุกขบวน และสถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศได้ โดยยืนยันว่าจะมีการดูแลที่ได้มาตรฐานเหมือนเดิม
“เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟนั้นทาง บช.ก และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 จะเป็นผู้จัดสรร และจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบว่าใครจะรับผิดชอบขบวนใด และพื้นที่ใด ซึ่งหลังจากที่ บก.รฟ. ได้ถูกยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2566 ทางเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้เข้ามาปฏิบัติทดแทนทันที ไม่ให้มีช่องว่าง และขาดตอนเรื่องความไม่ปลอดภัยในการใช้บริการบนขบวนรถไฟ และพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามวงเงินค่าเบี้ยเลี้ยงฯ 34 ล้านบาท เป็นวงเงินเดิมที่ รฟท. เคยจ่ายให้กับตำรวจรถไฟในแต่ละปีอยู่แล้ว”นายนิรุฒ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รฟท. จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสนับสนุน แลกเปลี่ยน วางแผนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่ของ รฟท. ด้วย ทั้งในเรื่องของข้อมูลคนร้าย ผู้ก่อเหตุผู้ต้องสงสัย ข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่รถไฟทุกรูปแบบ ตลอดจนช่วยป้องกันปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินของ รฟท. ด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบให้ รฟท. พิจารณาจัดหามาตรการเสริมเรื่องการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด อาทิ ติดตั้งกล้อง CCTV ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบนขบวนรถไฟให้มากขึ้น และการติดกล้องที่หน้าอกของพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกล้อง CCTV และกล้องติดหน้าอกพนักงานตรวจตั๋ว ได้ในปี 2567 ซึ่งแม้ รฟท. ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นนโยบายที่ รฟท. ให้ความสำคัญที่สุด จะไม่นำเรื่องขาดทุนมาเป็นอุปสรรค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ
บอร์ด รฟท. ไฟเขียวรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 3 เส้นทาง 1.33 แสนล้าน
บอร์ด รฟท. ไฟเขียวรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 3 เส้นทาง 634 กม. 1.33 แสนล้าน ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์‘ ชงคมนาคม ก.พ.นี้ ก่อนเสนอครม. ต่อไปเคาะ ยันรายงานอีไอเอผ่านฉลุย
'สุริยะ' ตั้งธงศึกษา 'สถานีขนส่งบขส.' ใหม่เสนอครม.ภายในปี67
“สุริยะ” สั่ง รฟท.ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่พหลโยธินใหม่ แนะเกลี่ยพื้นที่ให้ บขส.สร้างรวมสถานีขนส่งผู้โดยสาร”เหนือ-อีสาน-ใต้”แห่งใหม่ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คาดศึกษา
รฟท.เพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวนสาย ’เหนือ-อีสาน‘ รับคนเดินทางช่วงปีใหม่
รฟท. แจ้งเพิ่มขบวนรถพิเศษ 12 ขบวน สายเหนือ-อีสาน รองรับคนเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ เน้นความปลอดภัย ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง เปิดจองตั๋ว 28 พ.ย.นี้ พร้อมตั้งศูนย์ปลอดภัยฯ รองรับการเดินทางของประชาชน
เช็กด่วน รฟท.แจ้งหลักเกณฑ์ผู้โดยสารจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน
‘การรถไฟฯ’ แจ้งขยายเวลาเปิดจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน นำร่องขบวนรถชุด 115 คัน จำนวน 8 ขบวน เริ่มให้บริการวันที่ 20 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป