17 ธ.ค.2564 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 40) ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่แนวโน้มของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยได้คลี่คลายลงตามลำดับ ด้วยการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีระดับคงที่และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้รับรายงานจากฝ่ายสาธารณสุขว่า สถานการณ์ด้านยาและเวชภัณฑ์ในปัจจุบัน ตลอดจนจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่เพียงพอ
อีกทั้งการดำเนินการตามแผนให้บริการวัคซีนที่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประเทศครบจำนวนหนึ่งร้อยล้านโดสได้ภายในปีนี้ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด ประกอบกับในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นห้วงเวลาสำคัญที่ประชาชนจะได้มีการจัดงานตามประเพณีท้องถิ่นและทางศาสนา งานรื่นเริงตามประเพณี งานเลี้ยง การพบปะสังสรรค์ การท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มบุคคลจำนวนมากเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงมีนโยบายเพื่อการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการ ผู้รับผิดชอบจัดงาน ผู้ร่วมงาน และประชาชนทั่วไปต้องร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ซึ่งรัฐบาลจะได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ซึ่งอาจจะได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตราแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้น
ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาเพื่อดำเนินมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ตั้งหน่วยงานตามความเหมาะสม และเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคภายหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงให้ดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565
ข้อ 3 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ดังต่อไปนี้ สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการความปลอดภัยที่รัฐบาลได้ยกระดับขึ้นเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคเป็นการเฉพาะ
(1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วราชอาณาจักร เฉพาะที่ร้านที่มีพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการเพื่อการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามเวลาเปิดทำการปกติในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จนถึงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565
(2) สถานที่จัดกิจกรรมเทศกาลปีใหม่ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลเป็นจำนวนมากให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดงาน จัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน ดังนี้
การจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล รวมจำนวนไม่เกินหนึ่งพันคน ให้ผู้จัดงานหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประสานส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
การจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล รวมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนขึ้นไปให้ผู้จัดงานหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประสานส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
ควบคู่กับหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด – 19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม โดยชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อSAR-COV-2 (เชื้อก่อโรค COVD – 19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK)
(3) สถานที่หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการได้กำหนดยกระดับขึ้นเป็นการเฉพาะด้วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามการดำเนินมาตรการของผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่และการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่รัฐบาลได้กำหนดยกระดับขึ้น
หากผู้ร่วมงานหรือประชาชนพบว่าการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการได้นี้ มิได้ปฏิบัติตามหรือย่อหย่อนการดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน สามารถแจ้งข้อมูลเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตักเตือน และให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไปได้
ข้อ 4 การปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการจัดการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การควบคุมและการป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและโยบายการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และข้อ 7 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การกำหนดประเภทของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด โดยแบ่งตามประเภทของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล
(2) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
(3) ผู้มีเหตุยกเว้นที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็น หรือบุคคลในหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศซึ่งมาปฏิบัติงานในราชอาณาจักร ตลอดจนคู่สมรสบิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น
(4) ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยเร็ว
(5) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน
(6) ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชกิจจาฯ แพร่ประกาศ ก.ศป. 'โรค' ต้องห้ามเป็นตุลาการศาลปกครอง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ก.ศป.เรื่อง การเป็นโรคหรือการมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นตุลาการศาลปกครอง
พระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร
โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ 'พล.ต.อ.-พล.ต.ท.' จำนวน 19 ราย
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานยศตำรวจชั้นนายพล
ราชกิจจาฯ แพร่คำสั่งยกเลิกห้ามขายเครื่องกรองน้ำยี่ห้อดัง 1 รุ่น
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ เรื่อง ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ของบริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
โปรดเกล้าฯ ถอดถอนและแต่งตั้ง ‘ตุลาการศาลทหารสูงสุด’ จำนวน 66 ราย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนและแต่งตั้งตุลาการศาลทหารสูงสุด จำนวน 66 ราย
พณ. ชวนนักท่องเที่ยว ชม ชิม ช็อปสินค้าช่วงเทศกาลปีใหม่
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ