ดีอีเอสเผยสถิติข่าวปลอมในภาคเหนือปี 64 เฟคนิวส์โควิดยึดพื้นที่

“อัจฉรินทร์” ปลัดดีอีเอส เปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” จ.น่าน เผยสถานการณ์ข่าวปลอมภาคเหนือปี 64 เฟคนิวส์ข่าวสุขภาพมาแรงสุด พบข่าวปลอมโควิด ยึดพื้นที่ 5 อันดับแรกที่ถูกแชร์มากสุด

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการเปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” ที่ จ.น่าน วันนี้ (17 ธ.ค. 64) ว่า สถานการณ์ข่าวปลอมที่มีมากขึ้น และสร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากการหลงเชื่อข่าวปลอม-ข่าวลวง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทัน และรับมือกับข่าวปลอม ขยายผลทางตรงให้กับประชาชนและสังคม ให้ได้รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมในการเผยแพร่และการแชร์ส่งต่อหรือการโพสต์ข้อมูล อย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรองก่อน

โดยจากสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข่าวปลอมที่มีการแชร์กันมากสุด 5 อันดับแรกในพื้นที่ภาคเหนือ ในรอบปีนี้ ได้แก่ 1.ครูบ้านสันกอง จ.เชียงราย เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวค 2.ตำรวจ สภ.เมืองน่าน ฉีดวัคซีนซิโนแวค เพียงวันเดียวเสียชีวิต 3.โรงงานนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนเกือบ 1,000 ราย 4. ด.ต.วัชระกร บุญตา เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 และ 5. จ.เชียงใหม่ พบนักศึกษา ม.เชียงใหม่ ติดเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก ทําให้ทุกพื้นที่ของเชียงใหม่เสี่ยงหมด ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดการข่าวปลอมในภาพรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63 – 14 ธ.ค. 64 มีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองมากกว่า 473 ล้านข้อความ พบว่าเข้าหลักเกณฑ์และนําส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ จำนวน 12,533 ข้อความ โดยมีจำนวนข่าวที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาเพื่อเผยแพร่แล้ว 6,117 เรื่อง ซึ่งกว่า 52% เป็นข่าวในหมวดสุขภาพ รองลงมาเป็นหมวดนโยบายรัฐ

“วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ หวังผลกับกลุ่มเป้าหมายภาคประชาชน เพื่อช่วยต่อยอดขยายผลสร้างการรับรู้วิธีสังเกตุข่าวปลอม ช่องทางการแจ้งเบาะแส และขับเคลื่อนการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ ข้อมูลเนื้อหาและข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะข้อมูลที่บิดเบือนและปัญหา ข่าวปลอม” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

สำหรับกิจกรรมสร้างการรับรู้ฯ ครั้งนี้มีนายวิศิษฐ์ ทวีสิงห์ ท่านปลัดจังหวัดน่าน ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดดีอีเอส บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนสื่อมวลชน กลุ่มอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) สมาคมวิทยุสมัครเล่นจังหวัดน่าน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขเข้าร่วม อีกทั้งมีการจัดอบรมผ่านรูปแบบออนไลน์ด้วย

ทั้งนี้ ความร่วมมือจากภาคประชาชนจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ภาครัฐ สามารถชี้แจงทําความเข้าใจ และเผยแพร่ความถูกต้องให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสารสนเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา วัยทํางาน ผู้สูงอายุ เป็นต้น

สำหรับปีงบฯ 65 กิจกรรมสร้างการรับรู้ฯ จะมีการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ให้ตรงกับประเด็นการสื่อสาร อาทิ กลุ่มอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) กลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการทํางานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ในการตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน ครอบคลุมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งในส่วนของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระดมทุกกลยุทธ์เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อลวง ทั้งในแง่ของการจัดการกับข่าวปลอม และการปราบปรามดําเนินคดีต่อผู้กระทําความผิดตามกฎหมาย โดยเน้นข่าวที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

สมาคมประกันวินาศภัยฯ เตือนอย่าแชร์ข้อมูลเท็จรายชื่อบริษัทประกันรถที่ถูก Black List

นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเท็จเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทประกัน (รถยนต์) ที่ถูก Black List ซึ่งเป็นข้อความเก่าที่ยังคงมีผู้หลงเชื่อนำกลับมาเผยแพร่และแชร์ต่อกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง

ดีอี เตือนระวัง 'โจรออนไลน์' สวมรอยหน่วยงานรัฐหลอกลวง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ธ.อิสลาม ช่วยเหลือประชาชน รับรวมหนี้ ต่อธุรกิจ ปิดหนี้ และหมุนธุรกิจ” รองลงมาคือเรื่อง “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อ ผ่านเพจสินเชื่อส่วนบุคคล SME” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และมีผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด