17ธ.ค.2564- ถ้าถามว่าคนจน คือ คนแบบไหน เป็นคนที่มีรายได้ต่ำ ไม่มีอันจะกิน ขาดแคลนปัจจัยสี่ ในการดำรงชีวิต หรือเป็นคนมีอาชีพมีรายได้ แต่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เล่นการพนัน เล่นหวย ติดเหล้า หรือเป็นคนมีที่ดินของตัวเอง พอมีเงินเลี้บงชีพ แต่ยังขาดอะไรบางอย่างที่เป็นคุณภาพชีวิต หรือเป็นคนพอมีฐานะ มีธุรกิจแต่มีหนี้สิน ที่คนภายนอกไม่เคยรู้ หรือเป็นคนไม่มีโอกาสทางการศึกษา หรือเป็นคนพอมีกินมีใช้ แต่มีปัญหาสุขภาพ แล้วยังมีอีกมากมายสารพัด ที่บ่งบอกว่าคนๆนั้น ยังยากจน
รูปแบบความยากจน ที่มีหลากหลายนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวชี้วัดตาม”นิยาม”ความยากจนของ ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้นเป็นชุดข้อมูลการระบุเกี่ยวกับลักษณะ ความจน ของคนไทยเอาไว้
ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) เกิดขึ้นครั้งแรกใน ปี 2525 ซึ่งมาจากแนวความคิดของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) ที่ได้กำหนดรูปแบบลักษณะของสังคมไทย และคนไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต โดยกำหนดเป็นเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานของคนไทย ซึ่งได้ข้อสรุปว่า “การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยจะต้องผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานทุกตัวชี้วัด” ต่อมาในปี ปี 2533 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ของคนไทยเป็นประจำทุกปี และมีการปรับปรุงเครื่องชี้วัด ทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในการทำวิจัยของ หน่วยบริการและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่( บพท. ) เพื่อค้นหาและสอบทาน”คนจน”เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แท้จริงของกลุ่มคนจนนั้น ดร.ดวงใจ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง (มรภ.ลำปาง) เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย บทพ.ในการเก็บข้อมูลคนจนในจ.ลำปาง ซึ่งเป็น 1 ใน 20 จังหวัดการค้นหาคนจนนำร่องของการวิจัย โดยมรภ.ลำปาง ได้เก็บข้อมูลภายใต้ชื่อ”โครงการฐานข้อมูลระดับตำบล ” กล่าวว่า ลำปางเป็นเมืองเหมืองแร่ แต่พบว่ามีความเหลื่่อมล้ำเยอะมาก มีคนไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากสภาพปากท้อง ซึ่งในการเก็บข้อมูลหาคนจน ตอนแรกดูจาก จปฐ.ปี 2562-3563 พบว่าข้อมูลไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องไปสอบทาน ค้นหาคนจน ว่ามีเท่าไหร่ จนด้วยเรื่องอะไร และเขามีศักยภาพอะไรในการจะทำให้จนลดลง หรือหายจน เพื่อเราจะได้มาทำโมเดลแก้จน
ในการเก็บข้อมูลนักวิจัย ทางนักวิจัยไม่ได้เลือกพื้นที่เอง จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือก เช่นนายอำเภอ ระดับจังหวัด และนักวิจัยไม่สามารถสอบถามทุกครอบครัวได้ ต้องให้คนในชุมชนช่วยเหลือ และมีนักวิจัยคอยประกบ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แท้จริง เราพบว่าคนจนนอกระบบมีมากจริงๆ ทำให้ตัดสินใจว่าควรลดพื้นที่การวิจัยในลำปาง จากตอนแรกคิดว่าจะสำรวจ 13 อำเภอ เหลือ 5อำเภอ เพื่อให้ได้ตัวเลขแท้จริง
“ตามหลักของบพท.คือ เก็บข้อมูลทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่หนึ่งคน ซึ่งบางครอบครัวเราไม่ได้เก็บ เพราะเขาไม่ยอมให้เก็บ และไม่ต้องการให้ชื่อของเขาไปอยู่ในกลุ่มคนจน ซึ่งเราก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเขา “
เมื่อถามว่าจากการเก็บข้อมูล พอจะนิยามความจน ได้หรือไม่ว่าคนแบบไหน ที่เข้าข่ายว่าจน อ.ดวงใจ บอกว่า จากการเก็บข้อมูล พบว่าครอบครัวหนึ่งขายวัสดุก่อสร้าง แต่มีหนี้สินเยอะมาก ถ้าดูตามข้อกำหนดของจปฐ.ก็ถือว่าเข้าข่ายจน หรือคนไม่ออกกำลังเกิน 3 วัน จปฐ.ก็ระบุว่าเป็นคนจน เพราะการไม่ออกกำลังอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา และจะไปกระทบต่อการดำรงชีวิตอาชีพการงาน กระทบต่อสังคม
อ.ดวงใจ ยังบอกอีกว่า การเก็บข้อมูลทำให้รู้ว่าข้อมูลของจปฐ.คลาดเคลื่อนมาก ซึ่งอาจจะมาจากกลไกในพื้นที่ มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ให้เวลาอาสาสมัครทำงานน้อยเกินไป จึงทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งนโยบายเป้าหมายของการเก็บข้อมูลยังขาดความชัดเจน ว่าเพื่อต้องการอะไร และต้องมียอมรับให้ได้กับข้อมูล เช่นถ้าพื้นที่ตนเองมีคนจนมาก ก็อย่าเมกข้อมูล เพื่อให้ตัวเลขน้อยลง เป็นต้น
“ในฐานะนักวิจัยเราต้องสกัดออกมาให้ได้ว่า มีคนจนกี่คน แล้วคนไหนที่จน จนเพราะอะไร และเขามีต้นทุน มีทรัพยากรอะไรบ้าง ที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาให้เขา “อ.ดวงใจกล่าว
สิ่งที่ได้จากการทำวิจัย โครงการนี้ อ.ดวงใจ กล่าวว่า สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดคือการทำให้นักวิจัยที่อยู่แต่ในห้อง ได้มาเห็นของจริง และเรามีการบูรณาการข้อมูลที่ได้กับ 6 คณะในมรภ.ลำปาง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อท้องถิ่น
” การแก้ปัญหาคนจนทำโดยลำพังไม่ได้ และการช่วยเหลือไม่ควรให้ปลากับเขา แต่ตวรให้เบ็ดไปหาปลา ไม่ใช่ช่วยสักพักเขาก็กลับไปเหมือนเดิมอีก ซึ่งการวิจัย ต้องไม่มองแต่ปัญหา ต้องมองหาศักยภาพของเขาให้เจอด้วย สำหรับลำปาง เราต้องดึงหน่วยงานระดับจังหวัด ภาคเอกชน ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอสซีจี เข้ามาช่วยเหลือบูรณาการเรื่องนี้ด้วย”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของ บทพ. นักวิจัยผู้มีประสบการณ์เคยทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของประเทศไทยมาก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กล่าวว่า การทำวิจัยเกี่ยวกับคนจน ก็เพื่อมุ่งหวงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองของเรา โดยเชื่อว่า ในประเทศเรายังมีศักยภาพในพื้นที่ มหาศาล แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ปัญหาบางอย่างทำไมแก้ไม่ได้ ก็เพราะเราขาดข้อมูลการวิจัย ซึ่งก็เหมือนการขาดเข็มทิศ และทำให้การบูรณาการเกิดขึ้นไม่ได้
“ที่ผ่านมา ข้อมูลเกี่ยวกับคนจน Error มหาศาล การเก็บข้อมูลของ จปฐ. ทำมา 30 ปี เป็นข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่การเก็บข้อมูลทำแบบ บอกวันนี้ จะเอาข้อมูลพรุ่งนี้ ข้อมูลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว อาจจะใช่ในตอนนั้น แต่ไม่ใช่ในตอนนี้ “อ.สีลาภรณ์ กล่าว
จากที่เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยเกี่ยวกับคนจนมาก่อน อ.สีลาภรณ์ บอกว่า เมื่อ10กว่าปีก่อน เคยใช้ฟังก์ชั่น ดูจากคนจนที่มีหนี้แบบธรรมดา ที่ซึ่งจากบัญชีรายรับรายจ่ายของเขา แต่กลุ่มนี้ไม่ใช่คนจนล่างสุด แต่การวิจัยของบทพ ได้จำแนกคนจนออกเป็น 1.พออยู่ได้ (เป็นพวกมีบัญชี ครัวเรือน รายรับ รายจ่าย 2.อยู่ลำบาก มีอาชีพมีรายได้ แต่อาจจะไม่พอ 3. อยู่ยาก พวกจนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และ4. อยู่ได้ แม้จะไม่ร่ำรวย
“เมื่อ 30 ปีก่อน รูปแบบคนจนไม่เปลี่ยน จะเหมือนๆกัน แต่ตอนนี้ คนจนเปลี่ยนไป บางคนเข้าข่ายจนเพราะไม่พอ หรือเป็นคนจนไม่พอ อยากมีมือถือ อยากมีมอเตอร์ไซต์ ซึ่งตอนนี้ Standard Living ของคนไทยเปลี่ยนไป เราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ซึ่งคนที่ควรช่วยจริงๆ คือ คนจนไม่มีจะกิน กินมื้อนี้ ไม่รู้มื้อไหนจะได้กินอีก “
การแก้ปัญหาคนจน อ.สีลาภรณ์ กล่าวว่า ต้องใช้รูปแบบ Area base ทำในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ทุนทีเป็นเงิน ทุนทรัพยากร และทุนทางสังคมเข้ามาช่วย พยายามทำให้เกิดระบบการผลิตในพื้นที่ ระบบสวัสดิการช่วยเหลือมากเกินไป ที่เป็นประชานิยม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีในการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องยากจนนี้ สภาพัฒน์ฯ เอง ก็ต้องทำในเชิงรุก
ยังมีแง่มุมอีกมากมาย ที่เกี่ยวกับความจนในประเทศไทย ที่กล่าวมานี้ ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่การวิจัยของ บพท. ถืว่าเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ที่จะรุกเข้าไปแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหากสำเร็จผลที่ได้ จะไม่ได้มีแค่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีอื่นๆตามมาอีกมากมาย อย่างที่คาดไม่ถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลลุยติดดาบเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกให้ผู้ประกอบการ
รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุน Deep Tech Startup เร่งติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพประเทศ -เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ
'บพท.'ในสังกัดอว.จับมือ 20 มหาวิทยาลัยสร้าง LE Financing ชุบชีวิตธุรกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
พบธุรกิจชุมชนที่เข้าร่วม 630 แห่ง และได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ราบรื่น 94% ภายใน 45 วัน