'สามารถ' กระทุ้งรัฐบาลต้องจริงจังผลักดันโครงการ 'แลนด์บริดจ์' อย่าให้ผิดหวังซ้ำซาก

10 ต.ค. 2566 – นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitt ระบุว่า

แลนด์บริดจ์ อย่าให้ผิดหวังซ้ำซาก

หลายคนไม่รู้ว่า ก่อนมีโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ที่กำลังอยู่ในความสนใจในขณะนี้นั้น ได้มีโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม, แลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา และแลนด์บริดจ์ สตูล-สงขลา เกิดขึ้นก่อน แต่ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน คนที่ลุ้นให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นรูปธรรมเสียทีก็คงหวั่นวิตกว่าจะผิดหวังซ้ำซากอีกหรือไม่ ?

1. แลนด์บริดจ์คืออะไร ?

แลนด์บริดจ์หรือสะพานเศรษฐกิจ เป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำด้วยการขนส่งทางบกผ่านถนน ทางรถไฟ และ/หรือท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะสร้างแลนด์บริดจ์ที่ไหนก็ได้ที่มีการเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำกับทางบก สำหรับของไทยจะสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งหวังว่าจะช่วยร่นระยะทางการเดินเรือระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไทย

ในปัจจุบัน การขนส่งระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไทยเรือขนส่งจะต้องแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาซึ่งอยู่ระหว่างสิงคโปร์กับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย หรือช่องแคบซุนดาซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวา หรือช่องแคบลอมบอกซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะชวา

2.แลนด์บริดจ์โครงการแรกไปถึงไหน ?

แลนด์บริดจ์โครงการแรกคือ แลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) ครม. มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างถนนสายกระบี่-ขนอม หรือทางหลวงหมายเลข 44 หรือที่เรียกกันว่าถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีเขตทางกว้าง 200 เมตร (กันพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับก่อสร้างทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ)ระยะทาง 133 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างทางหลวงนี้เมื่อต้นปี 2542 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) และสร้างเสร็จในเดือนกันยายน 2546 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท

ปี 2538 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ศึกษาพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้เสนอให้ย้ายที่ตั้งท่าเรือไปยังตำแหน่งที่มีผลกระทบน้อยที่สุด

ปี 2540 ครม. มีมติกำหนดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่บ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และฝั่งอ่าวไทยที่บ้านบางบ่อ อ. สิชล จ.นครศรีธรรมราช

โครงการไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากขาดงบลงทุน และประสบวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มีบางโครงการที่ได้ดําเนินการไปแล้ว เช่น ถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบงกช – เอราวัณ – ขนอม โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่อำเภอขนอม

วันที่ 2 กันยายน 2546 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ครม. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค โดยมีแลนด์บริดจ์เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ แต่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ประชาชนในพื้นที่คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จนในที่สุดโครงการได้ถูกยกเลิกไป ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปได้

3.แลนด์บริดจ์โครงการที่ 2 คืบหน้ามั้ย ?

แลนด์บริดจ์โครงการที่ 2 คือแลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา โดยในปี 2537-2538 ภาคเอกชนของมาเลเซียผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาตามกรอบการพัฒนา IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) มีเป้าหมายที่จะให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างปีนัง-สงขลา ด้วยท่อส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ แต่อย่างไรก็ตาม แลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา ก็ยังไม่คืบหน้า

4.แลนด์บริดจ์โครงการที่ 3 ก็ถูกพับ

แลนด์บริดจ์โครงการที่ 3 คือแลนด์บริดจ์ สตูล-สงขลา โดยในปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเชื่อมโยงท่าเรือ 2 แห่ง ที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ในฝั่งทะเลอันดามันที่ ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และฝั่งอ่าวไทยที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา

ปี 2552 (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ครม. ได้มีมติให้พัฒนาท่าเรือสองฝั่งทะเล โดยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราฝั่งอันดามัน และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ฝั่งอ่าวไทย

ความคืบหน้าของโครงการ

(1) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีการศึกษาและออกแบบเสร็จแล้ว แต่ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และเอ็นจีโอ จนไม่สามารถสรุปรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment หรือ EHIA) ได้ อีกทั้ง พื้นที่ฝั่งสตูลได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organization : UNESCO) ในที่สุดโครงการได้ยุติลง

(2) โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ในระหว่างการศึกษาสำรวจออกแบบและศึกษา EHIA ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้โครงการถูกพับไป

(3) โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ระยะทาง 142 กม. การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2553 แต่โครงการได้หยุดลงตามการยุติท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

5. แลนด์บริดจ์โครงการที่ 4 ระนอง-ชุมพร จะรอดมั้ย ?

แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ที่หลายคนให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ ประกอบด้วยเมกะโปรเจกต์หลายโครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่หลังท่า มีมูลค่าโครงการกว่า 1 ล้านล้านบาท

แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะรอดได้ดังนี้

(1) รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องมุ่งมั่น ไม่ลังเล พร้อมทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าให้ได้

(2) รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ และยอมรับผลกระทบจากโครงการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ หากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ก็จะถูกแขวนเหมือนแลนด์บริดจ์อื่นที่ผ่านมา

(3) รัฐบาลจะต้องเลิกแนวคิดที่จะให้เอกชนลงทุนโครงการเองทั้งหมด 100% เพราะจะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่หากโครงการสามารถเกิดขึ้นได้ ค่าบริการการใช้แลนด์บริดจ์ก็จะสูงด้วย ซึ่งจะลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะต้องร่วมลงทุนด้วย เพื่อทำให้ประชาชนที่ตั้งตารอคอยโครงการนี้มาอย่างยาวนานไม่ต้องผิดหวังซ้ำซาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.สามารถ' ถามจี้ 'สุริยะ' มาตรการสมุดพก คาดโทษผู้รับเหมา ใช้ได้ผลหรือไม่

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ซ้ำซาก ! อุบัติเหตุก่อสร้างบนถนนพระราม 2

ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น

'จตุพร' ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ ชี้แม้ลาออกจากพท.แล้วแต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น ยุรีบตั้งทั้งบ่อน ทั้งแลนด์บริดจ์ ซุกที่ดิน 99 ปี เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น ถึงคราต้องลุกต่อต้านรัฐบาลขายแผ่นดิน