กสม. แนะรัฐทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีข้อมูลใช้น้ำชัดเจน

กรรมการสิทธิฯ แนะรัฐทบทวนโครงการผันน้ำยวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้าน เผยผลการตรวจสอบพบไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงหลายประเด็น ชี้กระบวนการรับฟัง-EIA ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแถมยังขาดข้อมูลการใช้น้ำที่ชัดเจน

5 ต.ค.2566 - ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เมื่อเดือนกันยายน 2564 ระบุว่า กรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) มีแผนดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เนื่องจากโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โดยเฉพาะกระบวนการให้ข้อมูลและการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง รวมถึงขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน

นางปรีดากล่าวว่า กสม.ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การดำเนินการของกรมชลประทานเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯเห็นว่า หากมีการดำเนินโครงการย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการเป็นวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำกับน้ำต้นทุนที่มีของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งโครงการต้องใช้งบประมาณก่อสร้างรวมค่าดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา ในระยะเวลา 25 ปี สูงถึง 170,000 ล้านบาท

นอกจากนี้หากมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับบริษัทเอกชนจากต่างชาติ อาจขัดต่อพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเรื่องน้ำ (Right to the water) ของประชาชนในประเทศ ซึ่งรัฐไม่ควรดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่จะเป็นการกีดกั้นหรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงน้ำ หรือเข้าไปแทรกแซงการจัดสรรน้ำที่เป็นวิถีหรือธรรมเนียมดั้งเดิมโดยพลการ จึงเห็นว่า โครงการดังกล่าวของกรมชลประทานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและความต้องการใช้น้ำที่ชัดเจนครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าโครงการจะเป็นไปเพื่อความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงหรือมีหลักประกันความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการได้

นางปรีดา กล่าวว่า 2. การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงและข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ในหลายประเด็น เช่น ความกังวลของชาวบ้านต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความเชื่อเรื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติและเป็นการกระทบต่อพื้นที่เคารพบูชาของชาวชุมชน การเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับทราบข้อมูลหรือบอกแจ้งข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้ากระชั้นชิดเพียง 1 วัน

การจัดเวทีในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่เดินทางยากลำบาก การกำหนดเขตสำรวจศึกษาไม่ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนคนตลอดทั้งแนวโครงการ ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาพบปะแนะนำโครงการ แต่ถูกอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น รูปแบบการสื่อสาร การใช้ภาษา การมีล่ามที่ยังไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการให้ลงชื่อในเอกสารที่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องใด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจหรือแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และขาดความเชื่อมั่นต่อข้อมูลในรายงาน EIA เป็นต้น

นางปรีดากล่าวว่า กสม. เห็นว่า การดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EIA โครงการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งในส่วนสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือชุมชนผู้มีส่วนได้เสีย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจได้รับผลกระทบจากโครงการ จากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนได้มีหนังสือขอสำเนารายงาน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา แต่กลับได้รับรายงาน EIA ที่มีการปกปิดข้อมูลบางส่วน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า การให้ข้อมูลของบุคคลที่ถูกอ้างอิงมีความถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงาน EIA สอดคล้องกับข้อมูลในพื้นที่หรือไม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการของกรมชลประทาน ไม่สอดคล้องกับสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ และหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมให้บุคคลและชุมชนได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตในการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้องรอบด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้

นางปรีดากล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้น กสม.จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สรุปได้ดังนี้

1. ให้ กรมชลประทาน และ สทนช. ทบทวนโครงการนี้ และเร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในการดำเนินการต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้วิธีการและกลไกตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและนำไปสู่แผนการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ซึ่งสอดรับกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม

2. กนช. ควรชะลอการพิจารณาโครงการฯและควรมอบหมายให้ สทนช. เร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำ และแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย

ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน

ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด

เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา

'เขื่อนเจ้าพระยา' ลดระบายน้ำต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จ. ท่วมน้อยลง

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

สั่งปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ ลดผลกระทบลุ่มเจ้าพระยา

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์น้ำท่าที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักฯ