วอนนายกฯฟังเสียงประชาชนด้วยก่อนเดินหน้าโครงการยักษ์ผันน้ำยวมมูลค่า 1.7 แสนล้าน อธิบดีกรมชลประทานตั้งลูกชงเต็มที่ “หาญณรงค์”แนะทบทวนก่อนเสียค่าโง่
16 ก.ย.2566 - นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมอุโมงค์ผันน้ำบริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ จากนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งนำเสนอว่าสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในภาคเหนือปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 1,800 ล้าน (ลูกบาศก์เมตร หรือ ลบ.ม) ถือว่าค่อนข้างมาก มาตรการเตรียมความพร้อมคือต้องเก็บน้ำให้มากที่สุด ในระยะยาวคือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยเขื่อนภูมิพลมีความสำคัญต่อลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีความจุ 13,000 ล้าน แต่ยังว่างอยู่ จากการศึกษาพบว่าแม่น้ำยวม ไหลลงแม่น้ำสาละวิน ที่สบเมย (อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน) มีปริมาณน้ำ 3,000 ล้าน และไหลลงสู่ทะเล
“กรมชลประทานมีการศึกษาครบ-ครอบคลุมทุกมิติ ด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้ได้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และด้านวิศวกรรมก็เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทำการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายๆ จุด ในหลายๆชนเผ่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะผันน้ำจะผันน้ำได้ประมาณปีละ 1,800 ล้าน ลบ.ม. เราใช้ครึ่งหนึ่งเก็บครึ่งหนึ่ง ภายใน 5 ปี เขื่อนภูมิพลจะมีน้ำเต็มตลอด ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ระยะทางประมาณ 61 กม. จากเขื่อนแม่ยวมไปเขื่อนภูมิพล”นายประพิศ กล่าว
นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการผลักดันโครงการผันน้ำยวม ที่กรมชลประทานเสนอ โดยให้มีการศึกษาเพื่อดำเนินการต่อ รวมถึงโครงการท่อส่งน้ำหลายๆท่อในเขื่อนแม่กวงที่คาดว่าจะเสร็จแล้ว ยังเหลือ 20 % สุดท้ายจะเร่งรัดภายใน 2 ปี เพื่อเติมเต็มปริมาณน้ำต่างๆ แก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาว
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าการที่นายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี การฟังข้อมูลจากหน่วยงาน โดยมีการรายงานจากกรมชลประทานในวันนี้ ตนเองมองว่าปัญหาของเขื่อนภูมิพลคือการใช้น้ำจากต้นน้ำอย่างมาก จนไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนใหญ่ จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัญหานโยบายภาพรวม ไม่ใช่ดูเป็นรายโครงการ เมื่อทำโครงการผันน้ำแตง-งัด-กวง พบว่าเขื่อนเหล่านี้ซึ่งอยู่ลุ่มน้ำปิงตอนบนทำให้น้ำไม่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล นอกจากนี้ยังมีฝายต่างๆ ตลอดลำน้ำปิง ในวันนี้เป็นการอธิบายที่ไม่สัมพันธ์กัน การจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิง เจ้าพระยา จำเป็นต้องมองให้ถึงปัจจัยหลักของปัญหา
“ข้อมูลของกรมชล ที่ระบุว่าน้ำยวม มีปริมาณ 3,000 ล้านลบ.ม./ปี ไหลลงแม่น้ำเมย-สาละวิน เป็นข้อมูลเดิม วันนี้ข้อมูลเปลี่ยนไปแล้ว สถิติน้ำในแม่น้ำยวมในเวลานี้ลดลงอย่างมาก จะคิดว่าจะผันน้ำแบบเดิมความเป็นไปได้ไม่ถูกต้อง แม่น้ำยวมทุกวันนี้น้ำน้อยลง ส่วนรายงานอีไอเอ (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ เห็นได้ชัดว่าอธิบดีอาจจะไม่รู้จักผู้ได้รับผลกระทบ ว่าคือกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง การทำประชาสัมพันธ์ใหม่นั้น เวลานี้หลายหมู่บ้านเริ่มรับทราบข้อมูล และแสดงจุดยืนไม่ต้องการโครงการผันน้ำ
“โครงการนี้การลงทุนเป็นแบบร่วมระหว่างรัฐ-เอกชน ศึกษาปัจจุบันยังไม่เห็นรายงาน เพราะอ้างการเก็บค่าใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมและประปา ที่ต้องนำมาจ่ายให้แก่เอกชนผู้ลงทุน เนื่องจากไม่สามารถเก็บน้ำจากการเกษตรได้เนื่องจากติดกฎหมาย 2 ฉบับ การวางโครงการที่จะให้เอกชนมาลงทุนแบบนี้ โดยไม่รอบคอบแบบนี้ อาจนำไปสู่ค่าโง่ นายกฯควรทบทวนและให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาพิจารณาให้รอบด้าน และรับฟังประชาชนให้ครบถ้วน ไม่ควรเร่งรีบ เพราะการลงทุนแสนๆ ล้านจะสร้างหนี้ระยะยาวให้ประเทศ จะทำให้เดือดร้อนกันทุกคน อย่างน้อยดีใจที่วันนี้นายกยังไม่ได้ตัดสินใจทันที” นายหาญณณงค์ กล่าว
นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าไม่ต้องการให้มีการลักไก่ ชงโครงการผันน้ำยวมให้แก่นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งแบบนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มีจุดยืนชัดเจนคัดค้านโครงการนี้ โดยตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน (จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน) ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชุมชนและยังมีข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจนถูกเรียกว่าอีไอเอร้านลาบ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
“ขอวอนให้นายกฯเศรษฐา รับฟังจากประชาชนที่จะเดือดร้อน ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งพวกเราอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในเขตป่ารอยต่อ 3 จังหวัด เราดูแลรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติมาหลายชั่วอายุคน แต่อาจจะถูกทำลายหากโครงการผันน้ำเกิดขึ้น ขอให้ท่านพิจารณาบนฐานของข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ”นายวันไชย กล่าว
อนึ่ง โครงการผันน้ำยวมหรือชื่อเป็นทางการว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม ดำเนินการโดยกรมชลประทาน โดยค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย (1) เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยวม ตั้งอยู่บนแม่น้ำยวม ใน ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ปริมาตรเก็บกักปกติ 68.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรเก็บกักใช้งาน 13.95 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าอมก๋อย และป่าท่าสองยาง
(2) สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา จ.แม่ฮ่องสอน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง (3) ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้ภูเขา ระยะทาง 61.52 กิโลเมตร จากอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไปยัง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ และอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเป็นอุโมงค์ดาดคอนกรีต คาดว่าจะสามารถผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพลเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร (4) พื้นที่ จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ (DA) จำนวน 6 พื้นที่ (5) ถนน ปรับปรุงถนนเดิมและเป็นการก่อสร้างถนนใหม่ เพื่อเข้าสู่เขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์เข้า-ออก พื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ฯลฯ ทั้งหมด 8 เส้นทาง (6) ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ น้ำผันจากอุโมงค์ส่งน้ำจะไหลลงห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ "Chiang Mai Greentopia" ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90%
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
เทพไท ชี้ ‘ทักษิณ’ ยังขลัง ขึ้นเวทีช่วยผู้สมัคร นายกอบจ. เพื่อไทย โกยคะแนน
ใครจะบอกว่า นายทักษิณหาเสียงไม่มีผลต่อคะแนน ผมขอเถียงคอเป็นเอ็นว่า ทักษิณขึ้นเวทีหาเสียง มีผลต่อคะแนนผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแน่นอน
สดร. โชว์ภาพ ปรากฏการณ์ 'ดาวอังคาร' ใกล้โลกที่สุด
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยแพร่ภาพดาวอังคารช่วงใกล้โลกที่สุด
‘พิธา’ ปลุกคนเชียงใหม่ อย่าเลือกพวกพูดอย่างทำอย่าง ไม่รักษาสัญญา
'พิธา' ปลุกเชียงใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง 'นายก อบจ.' ยกภาษิต 'ของใหม่บ่ลอง ของงามบ่เห็น' ชวนทบทวนเลือกแบบเดิมก็อยู่แบบเดิม ลั่นไม่มีใครเป็นเจ้าของความคิดคน แข่งกันตรงไปตรงมา ไม่ใช่พูดอย่างทำอีกอย่าง ไม่รักษาสัญญา
ข้องใจ! 'นายกฯอิ๊งค์-บิ๊กเพื่อไทย' ทำไมขยันลงพื้นที่ภูเก็ต
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต" โดยระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
บ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ จ.เชียงใหม่ อารยธรรมต่างชนเผ่า ทำกินอยู่อาศัยในถิ่นเดียวกัน
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดอยดำ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ