กสม.แนะราชทัณฑ์ประกันสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง

กสม. สอบปมร้องเรียน จนท.เรือนจำละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ต้องขังป่วย แนะกรมราชทัณฑ์ประกันสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง

07 ก.ย.2566 - นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเพชรบุรี เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ต้องใช้ยารักษาเป็นประจำทุกวัน เมื่อปี 2564 ผู้ร้องถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเพชรบุรี ภรรยาของผู้ร้องได้นำยารักษาโรคซึมเศร้าจากโรงพยาบาลมาให้ผู้ร้อง แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางเพชรบุรี (ผู้ถูกร้อง)ได้ยึดยาดังกล่าวไว้ทั้งหมด ต่อมาผู้ร้องมีอาการหูแว่ว คลุ้มคลั่ง และทำร้ายตัวเอง จึงขอยาระงับอาการดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธ และพยาบาลของเรือนจำกลางเพชรบุรีใช้ถ้อยคำหยาบคายตะโกนต่อว่าผู้ร้อง และนำยาชนิดหนึ่งมาฉีดเข้าร่างกายซึ่งไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าเป็นยาชนิดใด โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อฉีดยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผู้ร้องจนหมดสติไปหลายวัน ปัจจุบันผู้ร้องได้จำคุกครบกำหนดตามคำพิพากษาของศาลแล้ว แต่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7 การทรมาน หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังนั้น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rules) วางหลักไว้ว่า ระบบราชทัณฑ์ต้องประกอบด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะให้นักโทษกลับตัวและฟื้นฟูทางสังคม การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน เรือนจำทุกแห่งพึงมีสถานบริการรักษาพยาบาล อันมีหน้าที่ประเมิน ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อผู้ต้องขังที่ต้องการการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หรือมีปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อการบำบัดฟื้นฟูของตน

กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง กรณีไม่อนุญาตให้นำยารักษาโรคประจำตัวเข้าเรือนจำ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และทำร้ายร่างกายผู้ร้องหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าผู้ร้องได้นำยารักษาโรคติดตัวมา ณ วันที่ถูกคุมขัง และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่อนุญาตให้นำยารักษาโรคประจำตัวเข้าเรือนจำตามที่กล่าวอ้าง ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ร้องนั้น พบว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำใช้กำลังกับผู้ร้องจริง แต่เป็นไปเพื่อควบคุมผู้ร้องให้อยู่ในความสงบเพื่อให้การรักษา เนื่องจากผู้ร้องมีอาการขัดขืนและอยู่ในภาวะที่อาจทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ และยาที่นำมาฉีดให้ผู้ร้องนั้น เป็นยาที่ใช้สำหรับกรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อให้สงบตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำร้ายร่างกายผู้ร้อง

สำหรับกรณีที่ผู้ร้องระบุว่าพยาบาลของเรือนจำใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อผู้ร้อง ปรากฏว่า พยานบุคคล 2 ราย ที่ผู้ร้องอ้างประกอบการร้องเรียนให้ข้อเท็จจริงไปในทางเดียวกันว่า ได้ยินเสียงพยาบาลของเรือนจำใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อผู้ร้องซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของกรมราชทัณฑ์ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า เป็นการปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้กองบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสั่งการให้เรือนจำกลางเพชรบุรีกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกคน โดยภายหลังพยาบาลรายดังกล่าวได้ย้ายไปสังกัดที่เรือนจำจังหวัดอื่นแล้ว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้กำชับไปยังเรือนจำจังหวัดดังกล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง ให้กระทำด้วยกิริยาวาจาที่เหมาะสมไม่เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามและประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ในความควบคุม รวมทั้งให้ยึดถือและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดไว้โดยเคร่งครัดต่อไปแล้ว จึงถือเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว

อย่างไรก็ดี กรณีการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีที่กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่พยาบาลของเรือนจำกลางเพชรบุรีให้ยาแก่ผู้ร้อง แต่ไม่ได้มีการบันทึกการรักษาพยาบาลตั้งแต่แรกโดยอ้างข้อจำกัดด้านการติดต่อประสานงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 และเริ่มมาบันทึกข้อมูลในระบบหลายเดือนให้หลัง นอกจากเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0705.4/326 ลงวันที่ 3 ม.ค.2562 เรื่อง กำชับการดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วยตามแนวทางปฏิบัติที่กรมราชทัณฑ์กำหนดแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยให้แก่ผู้ต้องขังรายอื่น อันเนื่องมาจากการบันทึกข้อมูลในระบบที่ไม่เป็นปัจจุบัน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ กรณีโรงพยาบาลแก่งกระจานไม่สามารถจ่ายยารักษาโรคซึมเศร้าให้แก่ผู้ร้องขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้ในทันที เนื่องจากสิทธิการรักษาของผู้ร้องที่เป็นสิทธิประกันสังคมอยู่นอกเขตพื้นที่ จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน โรงพยาบาลแก่งกระจานจึงจ่ายยาให้กับผู้ร้อง แม้เรือนจำกลางเพชรบุรีจะแก้ไขปัญหาระหว่างที่ยังไม่ได้รับยาของโรงพยาบาลแก่งกระจานด้วยการนำยารักษาอาการโรคซึมเศร้าที่มีอยู่ในคลังยาของสถานพยาบาลเรือนจำไปจ่ายให้แก่ผู้ร้อง แต่อาจมีผู้ต้องขังรายอื่นในเรือนจำหรือทัณฑสถานแห่งอื่นที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับผู้ร้องด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ต้องขังในภาพรวม เห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสังคมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ก.ย 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กรมราชทัณฑ์เน้นย้ำและกำชับเจ้าหน้าที่ของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ปฏิบัติตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0705.4/326 ลงวันที่ 3 ม.ค. 2562 เรื่อง กำชับการดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วยตามแนวทางปฏิบัติที่กรมราชทัณฑ์กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องบันทึกข้อมูลการให้การรักษาพยาบาลในระบบให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ให้สำนักงานประกันสังคมหารือร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ที่ไม่อาจใช้สิทธิกับสถานพยาบาลที่เรือนจำหรือทัณฑสถานแห่งนั้นตั้งอยู่ในทันที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

‘ปธ.กมธ.สิทธิฯ’ ทิ้งทวน ยื่น ‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘ราชทัณฑ์-ยธ.’ เอื้อ ‘ทักษิณ’ อยู่นอกคุก

‘สมชาย’ สวมหมวก ปธ.กมธ.สิทธิฯ ทิ้งทวนทำหน้าที่ ยื่น ‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘จนท.ราชทัณฑ์-ยธ.’ ส่อปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ อยู่นอกคุก

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  

กสม. สอบปมตำรวจเรียกรับเงิน-กระทำชำเราผู้ต้องหา

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่ากสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเข้าข่ายการกระทำความ

'ทวี' แจงปม 'แป้ง นาโหนด' กรมราชทัณฑ์สอบข้อเท็จจริงใกล้เสร็จแล้ว ระดมทุกอย่างแก้ยาเสพติด

'ทวี' แจง ปม 'แป้งนาโหนด' กรมราชทัณฑ์ สอบข้อเท็จจริงใกล้เสร็จแล้ว ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ รับยาเสพติดเป็นโจทย์ใหญ่ ต้องเปลี่ยนเรือนจำเป็นสถาบันปฏิรูปคน-ระดมทรัพยากรทุกอย่างแก้ปัญหา

'ราชทัณฑ์' เผยขั้นตอนหากทักษิณไม่ได้ประกันตัวคดี 112

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีวันที่ 18 มิ.ย.นี้ อัยการจะนำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ส่งฟ้องต่อศาล และขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) หากศาลไม่อนุญาตประกันตั