เยี่ยมชม ‘ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์ธรรมศาสตร์’ เพิ่มขีดความสามารถ ‘กำลังคนด้านสุขภาพ’ ด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรม’ ขั้นสูงสุด

อาคารล้ำสมัยสูง  8  ชั้น  บนเนื้อที่ใช้สอยมากกว่า 3.2 หมื่นตารางเมตร  ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มาตรฐานสากล ซึ่งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต คือที่ตั้งของ  “อาคารศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ธรรมศาสตร์”  ภายใต้การบริหารจัดการของคณะแพทยศาสตร์ มธ.
 
อาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้-ฝึกทักษะให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้ว ยังเปิดกว้างต้อนรับและพร้อมให้บริการวิชาการ Up Skill ให้กับ ‘กำลังคนด้านสุขภาพ-บุคลากรสหวิชาชีพ’  ในระบบสุขภาพ ตลอดจนเป็น ‘ฐานฝึกอบรม’ ให้กับประชาชน และหน่วยงานองค์กรต่างๆ 
 
กล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น อาคารแห่งนี้จะเป็นพื้นที่กลางสำหรับนักศึกษาจากทุกคณะในศูนย์สุขศาสตร์ อันประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์         คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์
 
พร้อมกันนี้ ยังจะเป็นพื้นที่กลางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ แพทย์ประจำบ้าน (Resident) แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellow) และแพทย์ทั่วไป (General Practitioner) และเป็นแหล่งฝึกอบรมสำหรับบุคลากร  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กร-หน่วยงาน ที่ต้องมีความรู้และทักษะทางด้านการแพทย์
 
การก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ มธ. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นจำนวนกว่า 400 ล้านบาท เรียกได้ว่าก่อตั้งขึ้นจากงบประมาณแผ่นดิน       
 
คณะผู้บริหารอาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ จึงหมายมั่นที่จะใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนให้สมดั่งปณิธาน ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’
 
สำหรับอาคารสูง 8 ชั้นแห่งนี้  ประกอบด้วย  ชั้นที่ 1 ห้องปฏิบัติการด้านนิติเวชศาสตร์ มีบริการด้านผ่าชันสูตรศพและจัดทำรายงานการตรวจศพ ที่เสียชีวิตในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ในจังหวัดปทุมธานี      4 แห่งหลักๆ ได้แก่ เขตพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (สภ.) สภ.ธัญบุรี สภ.คลองห้า และ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์
 
ชั้นที่ 2 ศูนย์ฝึกปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy Laboratory Center) ซึ่งจะมีห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการกล้องจุลทรรศศาสตร์ 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการเครื่องจำลองระบบภาพกายวิภาค 3 มิติเสมือนจริง ชั้นที่ 3 และ 4 เป็นลานจอดรถ สามารถจอดรถได้จำนวน 210 คัน 
 
ชั้นที่ 5 ศูนย์ฝึกทักษะการผ่าตัด (Surgical Skill and Cadaveric) เป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดจากร่างอาจารย์ใหญ่ที่ทันสมัย สามารถถ่ายทอดสัญญาณไปยังห้องเรียนและห้องประชุมได้พร้อมๆ กัน ประกอบด้วยห้องผ่าตัดแสดงถ่ายทอดสัญญาจำนวน 1 ห้อง, ห้องบรรยาย 2 ห้อง, ห้อง Cadaver 3 ห้อง จำนวนเตียงรวม 36 เตียง 
 
ชั้นที่ 6 ศูนย์ฝึกทักษะคลินิก (Clinical Skill Center) เป็นศูนย์สอบทักษะทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศได้มาตรฐานสากล และเป็นศูนย์สอบในระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วยจำนวนห้องสอบรวม 48 ห้อง อีกทั้งมีศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะทางคลินิกจำนวน 12 ห้องซึ่งสามารถจัดสอบให้แก่ผู้เข้าสอบจำนวน 80 คนต่อ 1 รอบการสอบ และสามารถจัดสอบทั้งภายในและภายนอกรวมมากกว่า 100 ครั้งต่อปี
 
ชั้นที่ 7 ศูนย์ฝึกสถานการณ์จำลอง (Clinical Simulation Center) ที่จะมีห้องฝึกสถานการณ์จำลอง (Simulation room) ประกอบด้วย ห้องควบคุมและห้องอภิปรายกลุ่ม สามารถช่วยฝึกการดูแลผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาลที่เรียกว่า Prehospital care หรือ emergency medical service (EMS) และจะเป็นศูนย์ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยสำหรับบุคลากรในสายสุขศาสตร์  และชั้นที่ 8 ศูนย์ประชุมคณะแพทยศาสตร์ (Faculty of Medicine Conventional Center) ประกอบด้วยห้องประชุม 500 ที่นั่ง และห้องประชุม 300 ที่นั่ง
 
นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียนขนาด 30-50 ที่นั่ง จำนวน 11 ห้อง ห้องเรียนขนาด 100 ที่นั่ง จำนวน 3 ห้อง ห้องเรียนขนาด 150 ที่นั่ง จำนวน 1 ห้อง ห้องสำนักงาน ห้องควบคุมอาคาร และห้องควบคุมระบบโสตทัศนูปกรณ์ 
 
“ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง เช่น หุ่นฝึกทักษะทางการแพทย์สำหรับจำลองสถานการณ์ให้ได้ฝึกปฏิบัติทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปจนถึงการผ่าตัด ระบบกำจัดกลิ่นฟอร์มัลดีไฮด์จากประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งเเรกในประเทศไทย พร้อมเครื่องจำลองระบบภาพกายวิภาค 3 มิติเสมือนจริงในศูนย์ฝึกปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์” รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. ให้ข้อมูล
 
ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของศูนย์ฝึกทักษะฯ ‘นพ.ดิลก’ เล่าว่า หลังจากที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ               
คณะแพทยศาสตร์ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารนี้ไปบ้างแล้ว เช่น งานบริการประชาชนด้านการอบรมให้ความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การกู้ชีพผู้ที่หัวใจหยุดเต้น (CPR) ช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะวิกฤต ฯลฯ ให้กับ อสม. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คนทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการทบทวนองค์ความรู้ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และ จ.ปทุมธานี 
 
ไม่น่าเชื่อว่า อาคารแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัยและครบครันแห่งนี้ ใช้เวลาสร้างเพียง 2 ปีเศษ นับตั้งแต่วางอิฐก่อนแรกในวันที่ 1 ต.ค. 2563 และแล้วเสร็จในวันที่ 20 ก.ย. 2565 โดยผู้ที่เป็นกำลังสำคัญและเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้างคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
“แม้การก่อสร้างอาคารเรียนในครั้งนี้ได้ใช้งบประมาณการสร้างจำนวนมาก แต่นั่นเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่งถ้าสามารถทำให้นักศึกษามีพัฒนาการทางการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้อาคารเรียนใหม่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา และประชาชนทุกคน” อาจารย์สุรพล กล่าว
 
ศ.ดร.สุรพล  เผยว่า ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์แห่งนี้ถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ยืนยันหลักการและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการแยกการบริหารจัดการ ระหว่าง ‘การจัดเรียนการสอน’ ทางการแพทย์ คือคณะแพทยศาสตร์ มธ. กับ ‘หน่วยบริการ’ คือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกจากกันตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
 
“ขณะนั้นมีหลายฝ่ายค่อนข้างกังวลถึงการบริหารจัดการแบบนี้ แต่ในวันนี้ชัดเจนว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 36 ปี ได้รับการรับรองมาตรฐาน Advanced Hospital Accreditation (AHA) ถือเป็นหนึ่งใน 17 โรงพยาบาลใหญ่ของประเทศที่ได้รับรอง ส่วน คณะแพทยศาสตร์ มธ. ซึ่งก่อตั้งมาได้ประมาณ 33 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นคณะแพทยศาสตร์ อันดับ 4 ของประเทศ จะตามหลังก็เพียงคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นที่มีอายุมากกว่า 100 ปีเท่านั้น โดยทั้ง 2 หน่วยงานยังได้ร่วมมือกันในการออกแบบอาคารแห่งนี้ด้วย” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
 
นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า การสร้างศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ธรรมศาสตร์ ถือเป็นหลักประกันที่ทำให้บุคลากรภายนอกที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงบุคลากรในวงการแพทย์ได้เห็นว่า ทั้ง 2 หน่วยงานประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในมุมการผลิตแพทย์ การให้บริการในสถานศึกษา รวมถึงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการ มธ. แนะมาตรการรับมือสาธารณภัยในชุมชนเมืองเก่า

นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะท้องถิ่น-สำนักงานเขต สำรวจข้อมูลใหม่ทุก 5 ปี “สร้างคลังข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน” เพื่อเตรียมทรัพยากร วางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ หากไม่สามารถแก้ผังเมือง-โครงสร้าง-กรรมสิทธิ์ที่ดิน

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ผงาดนั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งเริ่มการประชุมตั้งแต่ในเวลา 09.00 น. ของวันนี้ ได้มีวาระการประชุมเพื่อเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่เป็นรอบสุดท้าย