มาแล้ว 'ซูเปอร์บลูมูน' 2 ปรากฏการณ์ จันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน และอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ซูเปอร์บลูมูน จากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

30 ส.ค.2566 - เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า เตรียมพร้อมถ่ายภาพ #ดวงจันทร์เต็มดวงใหญ่ที่สุดในรอบปี ก่อนจะไปพบกับ Super Blue Moon ในคืนนี้ มาแนะเทคนิคเก็บภาพดวงจันทร์สุดประทับใจ เตรียมตัวก่อนลงสนามจริงกัน

คืน 30 ถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 มี 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ #ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ #บลูมูน (Blue Moon)

ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

การที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้น เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะภาพเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า ผู้สนใจเก็บภาพความประทับใจสามารถเตรียมตัวถ่ายภาพด้วยหลักการเบื้องต้น ดังนี้

1 ) ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ความยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูง จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า

2 ) ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เนื่องจากดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ค่าความไวแสงสูง จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วย ช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว

3 ) การปรับโฟกัสภาพ แนะนำใช้ระบบ Live View บนจอหลังกล้อง เลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด

4 ) ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป อาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบภาพดูว่าเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่

5 ) ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) เนื่องจากสามารถปรับการตั้งค่าได้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวก

6 ) ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600 วินาที หากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปให้เพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ขึ้นจนได้แสงที่พอดี

7 ) รูรับแสง เลือกใช้ในช่วงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ

8 ) ปิดระบบกันสั่นของเลนส์

9 ) ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง

10 ) การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

เมื่อทราบหลักการเบื้องต้นแล้วสามารถประยุกต์ใช้เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ให้น่าสนใจ อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ Moon Illusion เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้ามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร

สำหรับคืนนี้ที่ไหนฟ้าดี ไม่มีฝนมาเป็นอุปสรรค เก็บภาพมาฝากกันได้นะครับ

#บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที

บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย

ส่วนปีนี้ เราน่าจะทราบกันแล้วว่าตรงกับช่วง #ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน) เวลาที่เหมาะสมสำหรับชมความสวยงามคือคืน 30 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566

หากคืนดังกล่าวฟ้าใสไร้เมฆ สามารถชมความสวยงามด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หรือถ้าอยากเห็นแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็มาชมกับ NARIT ได้ที่หอดูดาวทั้ง 4 แห่งที่เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร. เปิดเทศกาลชมดาว รับลมหนาว เริ่ม 2 พ.ย.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนคนไทยดูดาวหนาวนี้ เริ่มกิจกรรมแรก 2 พฤศจิกายน 2567 กับการ“เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว”

'หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน- ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน' ดินดวงจันทร์ การค้นพบช่วงเวลาที่ขาดหายไป

ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจกับการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะการสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจต่างก็กำลังวางแผนไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวม

'จุฬาราชมนตรี' ประกาศ 12 มี.ค. วันแรกเดือนรอมฎอน เริ่มต้นถือศีลอด

นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ออกประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 โดยมีใจความว่า

ชมความงามดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีในคืน 'มาฆบูชา'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

ประเดิมรับลมหนาว! หอดูดาว 5 แห่ง จัดชมปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 3 พ.ย.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า 3 พฤศจิกายนนี้ ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนคนไทยส่อง #ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวทั้ง 5 แห่งของ NARIT ที่เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย