'กฤษฎีกา' แจงปมร้อน 'แอชตัน อโศก' ชี้ รฟม. ให้เอกชนใช้พื้นที่นอกเหนือวัตถุประสงค์การเวนคืน

"กฤษฎีกา" แจงปมร้อน "แอชตัน อโศก" ลั่นนำที่ดินจากการเวนคืนให้ "บริษัท อ." ใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อประโยชน์แก่กิจการบริษัทไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ และไม่เกี่ยวกิจการรฟม. ยัน ไม่ได้วินิจฉัยว่าทำได้

3 ส.ค.2566 - นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่าตามที่มีการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นกรณีอาคารชุดที่เป็นประเด็นอยู่ว่า การก่อสร้างสามารถทำได้ตามกฎหมายนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอเรียนชี้แจงว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือการตอบข้อหารือของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาสองประเด็น และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า - ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 หรือไม่

เห็นว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวได้ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ปรากฏตามคำปรารภของพระราชกฤษฎีกานี้ว่า เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก โดยการตราพระราชกฤษฎีกานี้เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน รวมทั้งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เวนคืนในการตกลงซื้อขายตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งที่ดินที่ได้มาจากการซื้อขายในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกานี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการได้ที่ดินมาโดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.422/2558 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.44/2559

ดังนั้น การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน กล่าวคือ เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก แม้ต่อมาที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. โดยผลของมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 เนื่องจากมีการโอนเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเดิมเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมาให้องค์การรถไฟฟ้ามหานคร และ รฟม. ตามลำดับก็ตาม

ดังนั้น เมื่อ รฟม. ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวมาจากองค์การรถไฟฟ้ามหานครจึงมีพันธะที่จะต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์สำหรับการดำเนินกิจการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย และเมื่อมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ได้กำหนดนิยามคำว่า “กิจการรถไฟฟ้า” ว่าหมายถึง การจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้าการจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจึงต้องเป็นไปเพื่อการจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้าการจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครเท่านั้น

นายนพดล กล่าวว่า กรณีที่ดินที่เป็นปัญหาตามข้อหารือนี้ รฟม. ได้จัดทำเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า ปล่องระบายอากาศ และจัดพื้นที่สำหรับเป็นที่จอดรถให้แก่ผู้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล แต่ต่อมาได้นำพื้นที่บางส่วนไปอนุญาตให้เอกชนใช้เป็นทางเข้า - ออก เพื่อประกอบการขออนุญาตหรือยื่นแจ้งการก่อสร้างตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 และเพื่อประโยชน์ของผู้พักอาศัยโครงการก่อสร้างอาคารชุดของเอกชนดังกล่าว

โดยประชาชนที่ประสงค์จะมาจอดรถ ณบริเวณดังกล่าวไม่อาจใช้พื้นที่ที่เป็นทางเข้า - ออก นั้น เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถได้อีกต่อไป ดังปรากฏตามวัตถุประสงค์หลักของบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า - ออก และการปรับปรุงพื้นที่ ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อ. ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ซึ่งให้สิทธิแก่บริษัท อ. ที่จะใช้พื้นที่ที่เป็นบริเวณจอดรถทั้งหมดเป็นอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษของบริษัท อ. เป็นเวลา 30 เดือน

รวมทั้งยังอนุญาตให้ย้ายทางเข้า - ออก จากด้านติดปล่องระบายอากาศ ไปอยู่ด้าน ส.สมาคม กับขยายความกว้างทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 6.60 เมตรพร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้ทางเข้า - ออก ดังกล่าว ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดดังกล่าวเป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อที่จะให้บริษัท อ. สามารถก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและประกอบธุรกิจอาคารชุดดังกล่าวได้ มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และประชาชนในอันที่จะใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟม. ได้รับเป็นเพียงการตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง รฟม. หรือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน

“สำหรับข้ออ้างที่ว่า รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นจนสมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การจะอ้างว่าได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินจนสมประโยชน์ได้นั้น ต้องปรากฏว่าได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนจนหมดความจำเป็นไม่ต้องใช้เพื่อการนั้นอีก เช่น รฟม. เลิกเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว หรือหมดความจำเป็นจะต้องมีทางเข้า - ออก เพื่อโดยสารรถไฟฟ้า หรือเลิกใช้รถยนต์ในการเดินทางแล้ว

ดังนั้น ตราบใดที่กิจกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่ จะอ้างว่าได้ใช้จนสมประโยชน์แล้วมิได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปให้บริษัท อ. ใช้เป็นทางเข้า - ออก เพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อ. จึงไม่ใช่เป็นการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.”

นายนพดล กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า - ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นการให้สิทธิใด ๆ ตามนัยมาตรา 75 (6) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 หรือไม่ อย่างไร เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า - ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ในกรณีดังกล่าวเป็นการนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและไม่สามารถกระทำได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีก ทั้งนี้ ปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ 237/2563 ซึ่งสำนักงานฯ ได้นำลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ตั้งแต่มีความเห็นดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าทำได้นั้นจึงไม่ถูกต้องตามความจริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด