กสม.แนะ 'สภาวิชาชีพ-สตช.' คุมเข้มสื่อเสนอข่าวอาชญากรรมเด็ก!

กสม.สอบกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอาชญากรรมและข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็ก โดยละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว แนะสภาวิชาชีพ-สตช.กำกับดูแล

27 ก.ค.2566 - นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนสืบเนื่องจากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนอย่างไม่เหมาะสมสามกรณี กรณีแรกเป็นข่าวเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งทำปืนลั่นเป็นเหตุให้เพื่อนนักเรียนเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยสัมภาษณ์พยาน ญาติผู้เสียชีวิต และพยายามรุมสัมภาษณ์มารดาของนักเรียนผู้ก่อเหตุโดยที่ไม่ยินยอม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพนักเรียนผู้ก่อเหตุและถ่ายภาพผู้เสียชีวิตด้วย กรณีที่สองการนำเสนอข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารเด็กและประชาชนจำนวนมากที่จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อเดือนตุลาคม 2565 และกรณีสุดท้าย การนำเสนอข่าวชายหนุ่มฆาตกรรมแฟนสาวที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อเดือนกันยายน 2565 กสม. เห็นว่า ทั้งสามกรณีมีประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว จึงมีมติเห็นสมควรให้ตรวจสอบ

กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 35 แต่การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นข่าวด้วย โดยเฉพาะสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมทั้งต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลด้วย

จากการตรวจสอบการนำเสนอข่าวทั้งสามกรณีพบว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่จะปิดบังใบหน้าหรือเบลอภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็พบว่ามีสื่อมวลชนบางสำนักที่นำเสนอข่าวโดยไม่ได้ปิดบังใบหน้าหรือเบลอภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี เช่น การนำเสนอภาพใบหน้าของเยาวชนจากเหตุการณ์ปืนลั่นที่โรงเรียน การนำเสนอภาพใบหน้าของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารเด็กและประชาชนที่จังหวัดหนองบัวลำภู และการนำเสนอภาพใบหน้าของผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ฆาตกรรมที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งได้นำเสนอขั้นตอนและวิธีการฆาตกรรมที่ได้จากการสอบถามผู้ต้องหาโดยละเอียดด้วย นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวบางสำนักยังสร้างความรำคาญและไม่สบายใจต่อมารดาของเด็กนักเรียนที่ทำปืนลั่นด้วยการเดินตามและพยายามสอบถามข้อมูลอันมีลักษณะคาดคั้น ในขณะที่สื่อมวลชนหลายแห่งนำเสนอข่าวเดียวกันนี้ได้โดยปิดบังใบหน้าหรือเบลอภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีภาพความรุนแรง และไม่ซ้ำเติมความทุกข์หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ข่าวที่นำเสนอขาดสาระสำคัญหรือไม่ครบถ้วนแต่อย่างใด

กสม.จึงเห็นว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางแห่งตามคำร้องทั้งสามกรณีข้างต้น เป็นการใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวจนเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นข่าว จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบปรากฏคลิปวิดีโอข่าวดังกล่าวในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวหลายแห่งด้วย

ที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีหนังสือกำชับหน่วยงานในสังกัดให้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายแล้ว ขณะที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอยู่ระหว่างระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนนำไปใช้ต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

1.ให้สถานีโทรทัศน์และสำนักข่าวต่าง ๆ ที่เสนอข่าวอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลบคลิปวิดีโอข่าวที่ยังคงอยู่ในระบบออนไลน์ทั้งสามกรณีเพื่อเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ

2.ให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอข่าวเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญและข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการนำเสนอพฤติการณ์ก่อเหตุในเชิงลึก รวมถึงต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อัตลักษณ์ ใบหน้า ของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินจำเป็น

นอกจากนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กำชับและผลักดันให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำแนวปฏิบัติในการนำเสนอเนื้อข่าวลักษณะดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และสนับสนุนให้มีระบบเรตติ้งในเชิงคุณภาพ (Quality Rating) ที่นำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง

3.ให้ สตช. กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเสนอข่าวเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญและข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็ก จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของพฤติการณ์และแรงจูงใจของการก่อเหตุ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องในคดี และต้องระมัดระวังไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลและพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยต้องวางแนวกั้นตำรวจ/แถบกันที่เกิดเหตุ (POLICE LINE) เป็นการเฉพาะโดยเร็วเมื่อเกิดเหตุ

และ 4.ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานองค์การสาธารณกุศลให้กำชับและกำกับดูแลผู้ปฏิบัติการกู้ภัยและอาสาสมัครให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคารพต่อผู้ประสบภัย โดยประการสำคัญคือต้องไม่ถ่ายภาพอันไม่เหมาะสมอันอาจนำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดุสิตโพล' เผยคนไทยเบื่อความขัดแย้งในสตช.

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “หัวอกของคนเสพข่าวความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,040 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2567

เลขาฯ ก.ตร. แถลงผลประชุม เห็นชอบคำสั่งให้ 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ โดยชอบกฎหมาย

พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงาน ก.ตร. ในฐานะเลขานุการ ก.ตร. กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงเกี่ยวกับกรณีผู้ร้องขอให้ ก.ตร. พิจารณาเกี่ยวกับการปฎิบัติการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น  

'บิ๊กต่าย' ไม่หวั่นตายเดี่ยว พร้อมรับทุกอย่าง ยันเซ็นปลด 'โจ๊ก' ยึดหลักสุจริต

'บิ๊กต่าย' ลั่นไม่คิดโดนเช็กบิล หลัง 'โจ๊ก' จ่อยื่น ป.ป.ช. ยันเซ็นปลดสุจริต ย้ำหากเกิดอะไรขึ้นพร้อมน้อมรับ ร้องโอ้โห ไม่เคยคิดนั่ง 'ผบ.ตร.' ไม่หวั่นตายเดี่ยว ยกธรรมะเข้าสู้

'บิ๊กต่อ' ยังไม่เข้า สตช. หลังหนังสือส่งตัวกลับยังไม่ถึงสำนักงานกำลังพล

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตลอดทั้งวันนี้ ได้มีสื่อมวลชนหลายสำนักเดินทางมารอติดตามความเคลื่อนไหวและการกลับเข้ามาทำงานวันแรกของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ