กทม. จับมือ สปสช. ชวนประชากรแฝง 7 แสนรายลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. เตรียมคลินิกชุมชนอบอุ่น 276 แห่ง รองรับประชากรแฝงกว่า 7 แสนราย ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้าน ใกล้ใจ 2. เจาะเลือดใกล้บ้าน ลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกประชาชน คาดเริ่มได้สิงหาคมนี้ 3. ส่งเสริมใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ

9 ก.ค. 2566 – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากรหนาแน่น ซึ่งตามทะเบียนบ้านอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคน และยังมีประชากรแฝงอีกจำนวนมาก ทั้งที่เข้ามาทำงาน มาเรียน หรือพักอาศัย ซึ่งความแตกต่างระหว่างข้อมูลประชากรตามทะเบียนบ้านกับประชากรที่มีอยู่จริงทำให้กระทบกับการจัดสรรทรัพยากรและส่งผลให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ การจัดระบบดูแลสุขภาพจึงต้องมีความจําเพาะพิเศษ เราได้พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะการที่กรุงเทพมหานครจะเป็น Smart City ได้ หัวใจคือต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เราบริหารจัดการได้ดี และส่งผลให้เมืองฉลาดขึ้น

จากการหารือร่วมกับ สปสช. หลายครั้งพบว่า การจะให้ประชาชนย้ายทะเบียนบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการย้ายหรือไม่ย้ายเป็นสิทธิของประชาชนตัดสินใจ แต่เรื่องสุขภาพ เรื่องบัตรทอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจและทำได้เร็วกว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้คนที่เป็นประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ลงทะเบียน ให้เราได้ทราบว่าตัวตนของประชาชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม เพราะจริง ๆ แล้ว กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในแง่ปฐมภูมิ คือเป็นด่านแรกที่ผู้ป่วยจะเข้ามาหา หากเรารู้ว่ามีผู้ป่วยที่แท้จริงเท่าไร บัตรทองเท่าไร ประกันสังคมเท่าไร ข้าราชการเท่าไร ก็จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูล งบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้ประชากรแฝงที่อยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 7 – 8 แสนคน ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยจะได้สามารถส่งต่อผ่านระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เกิดการลงทะเบียนคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

โอกาสนี้ ขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือของ สปสช. ซึ่งเป็นมิติที่ดีที่จะทำให้เรามีข้อมูลที่ถูกต้องและบริหารจัดการข้อมูลได้ดีขึ้น เพราะการจัดสรรงบประมาณหลายส่วนจะเป็นไปตามจำนวนประชากร ซึ่งอนาคตก็จะทำให้เราได้งบประมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และทำให้เราสามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เชื่อว่าคงจะมีการปรับปรุงรายละเอียดในการดำเนินการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเป็นลำดับต่อไป

ในส่วนของแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การเปิดให้ประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใกล้ที่ทำงาน ที่เรียน หรือตรงตามที่พักอาศัย เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้าน ใกล้ใจ โดย สปสช. ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการ คลินิกชุมชนอบอุ่น 276 แห่ง ไว้รองรับ รวมถึงมีโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อดูแลประชาชนในพื้นที่ และในส่วนของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักอนามัยได้เตรียมความพร้อมศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็น Area Manager จัดระบบบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดนวัตกรรมบริการตรวจใกล้บ้านหรือเจาะเลือดใกล้บ้าน เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่ง สปสช.จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมนี้ และการส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เช่น ค้นหาผู้มีภาวะพึ่งพิงป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากกองทุนฯ หรือการใช้งบประมาณเพื่อด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชุมชน เช่น กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่และเด็ก การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย เป็นต้น

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดทำนโยบายเพื่อยกระดับบริการสุขภาพให้กับประชาชน อาทิ การขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง (Home ward) หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine รถตรวจสุขภาพเชิงรุก หรือ Mobile Medical Unit ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดีผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล เป็นต้น ซึ่งนโยบายและสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพตามนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จได้อีกด้วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า จากนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้คนทุกคนที่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้มีสิทธิรับบริการทางสุขภาพ เป็นนโยบายที่ทาง สปสช. เห็นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาบางประการ คือ ประชาชนที่อยากลงทะเบียน ไม่มีที่ให้ลง เช่น คนต่างจังหวัดที่ทำงานในกรุงเทพฯ เพียงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้ไปลงทะเบียนที่คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 276 แห่ง ใกล้บ้านท่าน ซึ่งเมื่อลงทะเบียนแล้วท่านจะเป็นผู้มีสิทธิและสามารถใช้สิทธิในกรุงเทพมหานครได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือช่องทางออนไลน์ ได้แก่ ไลน์ สปสช. โดยค้นหาไอดี @nhso หรือไลน์ Traffy Fondue โดยค้นหาไอดี @traffyfondue

เลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า เราได้ดำเนินการนำร่องมาระยะหนึ่งแล้วพบว่าระบบมีความพร้อมและไม่วุ่นวาย นอกจากนี้ ตามที่ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวไว้ว่า “ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญของระบบ” ฉะนั้น หากเราไม่มีข้อมูล การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ก็จะไม่ง่ายนัก จึงขอความร่วมมือประชาชนมาลงทะเบียน ณ คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งสามารถลงที่ไหนก็ได้ แนะนำให้ลงใกล้บ้านหรือที่พักอาศัย โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือเปิดแอปพลิเคชัน ThaiD มาเป็นหลักฐานแสดงตัวตนเพื่อขอลงทะเบียน ทั้งนี้ หากประชาชนมีการย้ายที่อยู่บ่อย ใน 1 ปี สามารถเปลี่ยนได้ 4 ครั้ง โดยรองรับการเปลี่ยนทั่วประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงข้อเสนอสกัด 'คอร์รัปชัน' ในการจัดซื้อฯ ของ กทม.

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอเพื่อป้องกันคอร์รัปชันในการจัดซื้อฯ ของ กทม.

รัฐบาลเปิดมาตรการรับมือน้ำท่วม พร้อมแผนเผชิญเหตุตลอดหน้าฝน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)

ข่าวดี! รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง

รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิงจาก 6,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็นจำนวน 10,442 บาท/คน/ปี พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดครอบคลุมผู้มีภาวะพึ่งพิง 6 แสนคน

ป.ป.ช. ชง ครม.ตรวจสอบโครงการเช่ารถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า กทม. พบเสี่ยงทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงนามในหนังสือที่ ปช. 0008/0114 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยของ

น้องหมาน้องแมวจร จากสิ้นหวังสู่'บ้านใหม่'

ทาสหมาทาสแมวที่อยากรับหมาแมวจรไปเลี้ยงมอบความรักความอบอุ่น ช่วยเพื่อนสี่ขาได้มีบ้านหลังใหม่เป็นหลังสุดท้ายของชีวิต ตอนนี้ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) เปิดโอกาสให้คนกรุงที่สนใจสามารถเข้ามาเล่น ใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับเหล่าหมาแมวจร ทดสอบว่าจะปิ๊งปั๊งหรือเคมีตรงกัน  จนตกลงปลงใจพาเข้าบ้าน