นายกฯ ติดตามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน พร้อมรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที


นายกฯ ติดตามประเมินวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP ย้ำประชาชนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที

7ก.ค.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการประเมินสถานการณ์น้ำของประเทศ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ พบว่าปัจจุบัน ภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 25% ซึ่งที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยฝนจะตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขณะที่สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 40,808 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 50% ของความจุรวมทั้งหมด ในปริมาณนี้เป็นน้ำใช้การ 16,698 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้ำนับจากช่วงต้นฤดูฝนไปแล้วประมาณ 10% โดยภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในขณะนี้ สำหรับการจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ให้แก่พื้นที่ต่าง ๆ มีการจัดสรรแล้ว รวม 6,604 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 42% ของแผนทั้งหมด โดยภาคที่มีการจัดสรรน้ำมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ โดยจัดสรรไปแล้ว 54% ของแผน

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาล โดย กอนช. ได้จำลองปริมาณน้ำจาก ปี 2562 เพื่อใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การของอ่างฯ ขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การ 26,071 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ซึ่งน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่ จำนวน 21 แห่ง มีโอกาสเสี่ยงน้ำน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคตะวันตก 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การล่วงหน้าในปี 67 พบว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย. 67 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 12,162 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26% และ ณ วันที่ 1 ก.ค. 67 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 11,646 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25% ซึ่งลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งจากวันที่ 1 พ.ย. 66 โดย กอนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังการใช้น้ำ รวมทั้งติดตามในเรื่องแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด โดยระบายน้ำให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และใช้เสริมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เพื่อให้มีน้ำสำรองกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในอ่างฯ ขนาดใหญ่ให้ได้มากที่สุด รวมถึงมีการจัดรอบเวรการรับน้ำ แบ่งออกเป็น ต้นคลอง กลางคลอง และปลายคลอง เพื่อให้สามารถกระจายน้ำให้แก่ทุกพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง ขณะนี้มีพื้นที่ซึ่งมีการจัดรอบเวรการส่งน้ำโดยกรมชลประทานแล้ว ได้แก่ คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.สุพรรณบุรี และคลองชัยนาท-ป่าสัก

พร้อมกันนี้ รัฐบาล โดย กอนช. ได้มีการประเมิน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP พบว่า มีพื้นที่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และยังคงมีพื้นที่ซึ่งเป็นแนวรับลมที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยในเดือน ก.ค. 2566 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณชายขอบของประเทศ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ใน จ.เชียงราย จ.พะเยา และ จ.น่าน พื้นที่บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคกลาง ใน จ.เพชรบูรณ์ บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก และพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ระนอง ลงไป และพบพื้นที่เสี่ยงแล้ง เช่น จ.จันทบุรี และ จ. เพชรบุรี เป็นต้น จึงขอย้ำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai water เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม