ชี้สภากาชาดไทยไม่รับบริจาคเลือดจากหญิงข้ามเพศเป็นการเลือกปฏิบัติแนะแก้ไขและไม่ตีตราด่วน!

กสม.ตรวจสอบกรณีสภากาชาดไทยปฏิเสธรับบริจาคเลือดจากหญิงข้ามเพศ แนะแก้ไขแบบคัดกรองความเสี่ยงที่ไม่ตีตราและจำกัดสิทธิผู้บริจาคที่มีความหลากหลายทางเพศ

06 ก.ค.2566 - นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transgender) รายหนึ่ง ไปบริจาคโลหิตกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (ผู้ถูกร้อง) เมื่อเดือน ก.ค.2562 แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่คัดกรองว่าผู้เสียหายไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ แม้ผู้เสียหายมีใบรับรองผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่เป็นลบ โดยได้รับแจ้งว่าเนื่องจากกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ศูนย์บริการโลหิตฯ จึงปฏิเสธที่จะรับบริจาคโลหิตของบุคคลข้ามเพศ กะเทย ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นการถาวรตามระเบียบของสภากาชาดสากล สมาคมฯ เห็นว่าการบริจาคโลหิตควรเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะได้รับการคัดกรองโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ตีตราบุคคลอันเป็นการจำกัดสิทธิและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ 2 ได้รับรองหลักความเสมอภาคของบุคคล และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา หรือเหตุใด ๆ จะกระทำมิได้ โดยที่มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หมายถึง การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตฯ ปฏิเสธที่จะรับบริจาคโลหิตของผู้เสียหาย 2 ครั้ง เนื่องจากผู้เสียหายตอบคำถามในแบบฟอร์มคัดกรองการรับบริจาคโลหิตว่า มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงของประวัติด้านเพศสัมพันธ์ที่ศูนย์บริการโลหิตฯ กำหนด และแม้ผู้เสียหายจะตรวจหาเชื้อเอชไอวีอยู่เป็นระยะและมีผลตรวจเป็นลบ แต่อาจอยู่ในระยะเวลาที่เชื้อเอชไอวีมีระดับปริมาณน้อยมาก ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ และแม้ปริมาณเชื้อในระดับน้อยจะไม่สามารถแพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่แพร่ทางการรับโลหิต ดังนั้น ศูนย์บริการโลหิตฯ จึงไม่สามารถนำผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีมาประกอบการรับบริจาคโลหิตได้ และงดรับบริจาคโลหิตในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นการถาวร ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือคณะกรรมการ วลพ. แล้ว โดย คณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยเมื่อเดือน มี.ค.2563 ว่า การปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตดังกล่าวเข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

กสม. เห็นว่า ศูนย์บริการโลหิตฯ ในฐานะที่เป็นธนาคารโลหิตแห่งชาติ มีหน้าที่อยู่บนหลักความรับผิดชอบสูงสุดที่จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของโลหิตที่จะนำไปรักษาผู้ป่วยเป็นประการสำคัญที่สุด รวมทั้งต้องสร้างสภาวะที่ประกันการบริการทางการแพทย์และการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงเป็นเหตุให้ศูนย์บริการโลหิตฯ ปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตของผู้เสียหาย เนื่องจากผู้เสียหายได้ตอบแบบสอบถามการคัดกรองว่ามีประวัติการมีเพศสัมพันธ์กับชายเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี การสอบถามประวัติด้านเพศสัมพันธ์สำหรับทุกคน ควรมุ่งถามถึงลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงรายบุคคล เช่น การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก การไม่ใช้ถุงยางอนามัย ในกรณีที่มิใช่คู่ของตน เป็นต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ ลักษณะคำถามที่ถามประวัติด้านเพศสัมพันธ์ของชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชาย อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อการสื่อสาร ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการตีตรากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และสุ่มเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสภาพบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ควรถูกปิดกั้นการบริจาคโลหิตเป็นการถาวรอัน เนื่องมาจากการประเมินความเสี่ยงด้วยฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โดยทราบว่า ขณะนี้ ศูนย์บริการโลหิตฯ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านโลหิตของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและศึกษาช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัยสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายผู้มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะนำมาปรับใช้เป็นนถามในการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงในการรับบริจาคโลหิตเป็นรายบุคคลให้สอดคล้องกับแนวทางการคัดกรองการรับบริจาคโลหิตขององค์การอนามัยโลกได้

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สรุปได้ดังนี้ ให้ศูนย์บริการโลหิตฯ ปรับปรุงใบสมัครผู้รับบริจาคโลหิตและคู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต โดยมุ่งเน้นสอบถามลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสำหรับทุกเพศทุกวัย และหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีตามฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร รวมถึงกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มอาชีพ นอกจากนี้ให้เร่งรัดการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และนำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ประกอบการพิจารณาผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศให้สามารถบริจาคโลหิตได้ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดระยะเวลารอคอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไอเดียเจ๋ง! แต่งผีชวนคนบริจาคเลือดฉลองฮาโลวีน

นางสาวศิริลักษณ์ เพียกขุนทด หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนางสาวปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าฯ ร่วมจัดกิจกรรมแต่งผีชวนคนมาให้เลือด เนื่องในวันฮาโลวีน

'จิราพร' ปลื้มคนไทยร่วมใจ บริจาคโลหิตเกิน 10 ล้านซีซี ถวายเป็นพระราชกุศล

น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ

ชื่นชม อินฟลูเอนเซอร์หนุ่มชาวอังกฤษ เชิญชวนร่วม โครงการรวมน้ำใจ บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี

“จิราพร” ชื่นชม  แจ๊ค บราวน์ (Jack Brown) อินฟลูเอนเซอร์หนุ่มชาวอังกฤษ เชิญชวนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วม “โครงการรวมน้ำใจ บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี”

เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต อวัยวะและดวงตา หนึ่งคนให้ หลายคนรับ ครั้งที่ 15

จัดเป็นประจำทุกไตรมาส สำหรับกิจกรรม บริจาคโลหิต อวัยวะและดวงตา หนึ่งคนให้ หลายคนรับ โดยศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งเร็ว ๆ นี้เพิ่งจัดครั้งที่ 15 บริเวณชั้น 4 โซน D ได้รับความสนใจจากพนักงานเอ็ม บี เค

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2