เสนอพระนาม 'ในหลวง ร.9' ให้ยูเนสโกประกาศยกย่อง ฉลอง 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570

ครม. เห็นชอบการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี พ.ศ.2570

6 มิ.ย.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอ พระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระราชสมภพ ในปี 2570 เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ อย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ นานัปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจ ของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา

โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดย จะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568 2.เตรียมการด้านต่าง ๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' สั่งล้อมคอก! แก้ไขปัญหาเด็ก 1.02 ล้านคนหลุดระบบการศึกษา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่ออนาคตของเยา

ไทย ผลักดันลุ้น 'ต้มยำกุ้ง - ชุดเคบาย่า' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก

“เกณิกา”เผย ข่าวดีคนไทย "สุดาวรรณ" หนุนสวธ.จัดทำแผน ปีนี้เตรียมลุ้น “ต้มยำกุ้ง - ชุดเคบาย่า”ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก เดินหน้าผลักดันSoft Power ไทยให้นานาชาติรู้จัก

รัฐบาล เดินหน้าส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยว ดันจับคู่ธุรกิจในงาน TTM+2024

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวสอดรับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้ปีหน้า (2568) เป็นปีที่ยิ่งใหญ่

รัฐบาล ตีปี๊บ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันดันไทย เป็นศูนย์กลางการทำงานของชาวต่างชาติทักษะสูง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถ