คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีพายุพัดถล่มหลังคาโดมโรงเรียนวัดเนินปอเป็นเหตุให้ “นักเรียน-โค้ชฝึกสอนฟุตบอล-ประชาชน” เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 18 ราย ที่จังหวัดพิจิตร
24 พ.ค. 2566 – นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีพายุฝนกระหน่ำและลูกเห็บตก บริเวณบ้านเนินปอ หมู่ 1 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ต้นไม้ล้ม อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านพังเสียหายจำนวนมาก และความแรงลมได้พัดหลังคาโดมของโรงเรียนวัดเนินปอ พังถล่มลงมาทับนักเรียน โค้ชฝึกสอนฟุตบอล และประชาชนที่หลบฝนอยู่ในบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 18 ราย
โดยผู้บาดเจ็บถูกนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสามง่าม 13 ราย และโรงพยาบาลพิจิตร จำนวน 5 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดพิจิตร ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันทีพบว่า ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนวัดเนินปอ 2 ราย โค้ชฝึกสอนฟุตบอล 1 ราย ประชาชน 2 ราย และนักเรียนโรงเรียนเนินปอรังนกชนูทิศ 2 ราย และจากการตรวจสอบการทำประกันภัยเบื้องต้นพบว่าโรงเรียนวัดเนินปอ ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกินวงเงินจำนวน 6,000 บาท ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตภายนอกโรงเรียนจำนวน 60,000 บาทต่อราย และความคุ้มครองกรณีนักเรียนเสียชีวิตภายในโรงเรียนจำนวน 120,000 บาทต่อราย
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดพิจิตร ได้ประสานงานไปยังบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566 โดยนักเรียนโรงเรียนวัดเนินปอ 2 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 120,000 บาท ส่วนโค้ชฝึกสอนฟุตบอลจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 560,000 บาท โดยได้รับความคุ้มครองจากบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 60,000 บาท และจากการทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 มกราคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 26 มกราคม 2567 โดยกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต จำนวน 500,000 บาท ในส่วนของนักเรียนโรงเรียนเนินปอรังนกชนูทิศ 2 ราย ตรวจสอบพบว่าทางโรงเรียนฯ ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกินวงเงินจำนวน 10,000 บาท และความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจำนวน 100,000 บาท ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต จำนวน 2 รายๆ ละ 100,000 บาท และประชาชน 2 ราย ที่เสียชีวิตด้วยนั้น ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยแต่อย่างใด ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่ามีการทำประกันภัยภายหลัง สำนักงาน คปภ. จะช่วยประสานงานอำนวยความสะดวกและติดตามอย่างใกล้ชิดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมต่อไป สำหรับผู้บาดเจ็บ 18 ราย ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสามง่าม และโรงพยาบาลพิจิตร ทางสำนักงาน คปภ. จังหวัดพิจิตร ได้ประสานบริษัทประกันภัยและโรงพยาบาล เพื่อรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้บาดเจ็บที่มีสิทธิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน
เพื่อความอุ่นใจควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คปภ. ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2024”
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย
คปภ. เดินหน้าเคียงข้างเพื่อประชาชนเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ.
นางสาววิไลพร เจียรกิตติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวางแผนและพัฒนากฎหมาย สำนักงาน คปภ. เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ. โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน นายดำรงศักดิ์ ยอดทองดี
THE MISSION FOR INSURANCE SUSTAINABILITY คปภ. เดินหน้ารุกเคียงข้างประชาชน
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ)
คปภ. เห็นชอบสั่ง ‘บมจ. สินมั่นคงประกันภัย’ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
คณะกรรมการ คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “บมจ. สินมั่นคงประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวคุมเข้มให้บริษัทหยุดรับประกันภัย ภายหลังศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เดือดร้อน
'ชูฉัตร' นั่งเลขาฯคปภ. คนใหม่
คลังแต่งตั้ง นายชูฉัตร ประมูลผล เป็นเลขาธิการ คปภ. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
นายกฯ สั่งเตรียมแผนเผชิญเหตุให้รัดกุมยิ่งขึ้น กำชับตรวจสอบอาคารรับเข้าฤดูฝน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์วาตภัยและการเยียวยาผู้ประสบภัย ที่จังหวัดพิจิตร