3 ธ.ค. 2564 – ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าปล่อยให้รถไฟ “ส้วมเปิด” เข้าสถานีกลางบางซื่อ
หลายคนยังไม่รู้ว่าส้วมบนรถไฟมีทั้ง “ส้วมเปิด” และ “ส้วมปิด” แต่รถไฟไทยของเราเกือบทั้งหมดใช้ “ส้วมเปิด” มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้ “ส้วมปิด” ส้วมทั้ง 2 ระบบ เป็นอย่างไร? ที่สำคัญ “ส้วมเปิด” จะสร้างปัญหาให้กับสถานีกลางบางซื่อได้อย่างไร? ติดตามได้จากบทความนี้
สถานีกลางบางซื่อหรือศูนย์กลางระบบรางของไทย เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างทันสมัยและสวยงาม ช่วยยกระดับการขนส่งด้วยระบบรางของไทย มีพื้นที่ใช้สอยถึงเกือบ 3 แสนตารางเมตร ถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การให้รถไฟดีเซลวิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ จะทำให้เกิดปัญหา 2 ประการ ดังนี้
1.การใช้ส้วมบนรถไฟ ส้วมบนรถไฟมี 2 ระบบ ประกอบด้วยส้วมเปิด และส้วมปิด
1.1 “ส้วมเปิด” ไม่ดีอย่างไร? ส้วมเปิดเป็นส้วมที่ไม่มีถังเก็บอุจจาระและปัสสาวะ ทำให้สิ่งปฏิกูลเหล่านี้ถูกปล่อยเรี่ยราดตามทางรถไฟ ซึ่งจะถูกชำระชะล้างไปตามกาลเวลาด้วยสายฝน สายลม และแสงแดด เคยมีข่าวว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ใต้สะพานรถไฟได้รับความเดือดร้อนจากอุจจาระและปัสสาวะอย่างแสนสาหัส เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องเดินข้ามทางรถไฟถ้าไม่ระวังจะเหยียบกองอุจจาระได้
หากอุจจาระและปัสสาวะถูกปล่อยเรี่ยราดบนทางรถไฟบริเวณสถานี จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้โดยสาร และทำให้เกิดภาพอุจาดตา ไม่น่ามอง ไม่น่าใช้บริการรถไฟ ด้วยเหตุนี้ การรถไฟฯ จึงติดป้ายประกาศไว้ในห้องส้วมว่า “โปรดอย่าใช้ห้องสุขาเมื่อรถจอดอยู่ที่สถานี” แต่ก็ยังมีผู้โดยสารที่ไม่สามารถทนได้ จำเป็นต้องขับถ่ายในขณะที่รถไฟจอดที่สถานี บางคนเพิ่งปวดทันทีที่รถไฟวิ่งถึงสถานี บางคนติดพันกับการขับถ่ายก่อนถึงสถานี บางคนไม่มีสมาธิที่จะขับถ่ายในขณะรถไฟวิ่งซึ่งมีเสียงดังและสั่นสะเทือน หรือบางคนคิดพิเรนทร์ด้วยการ “ฝากรัก” ไว้ที่สถานี โดยเฉพาะสถานีที่มีความทันสมัย สวยงาม และใหญ่ที่สุดในอาเซียน อาจเป็นที่หมายปองได้
1.2 “ส้วมปิด” ดีอย่างไร? ส้วมปิดเป็นส้วมที่มีถังเก็บอุจจาระและปัสสาวะเช่นเดียวกับส้วมบนเครื่องบิน ทำให้ไม่มีสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ถูกปล่อยเรี่ยราดตามทางรถไฟ ไม่เกิดภาพอุจาดตา ส่งผลให้สถานีและทางรถไฟสะอาด น่าใช้บริการ ถึงเวลาแล้วที่การรถไฟฯ จะต้องเปลี่ยนส้วมเปิดเป็นส้วมปิดให้หมด โดยเฉพาะขบวนรถไฟที่วิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ
2.รถไฟดีเซลปล่อยควันพิษ
รถไฟดีเซลจะวิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อที่ชั้นที่ 2 ส่วนด้านบนหรือชั้นที่ 3 จะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งเข้า-ออก ด้วยเหตุนี้ ชั้นที่ 2 ซึ่งรองรับรถไฟดีเซลจะไม่โปร่งโล่ง เนื่องจากมีพื้นของชั้นที่ 3 คลุมอยู่ ทำให้การระบายควันไอเสียจากรถไฟดีเซลทำได้ยาก การรถไฟฯ จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการติดตั้งท่อระบายอากาศตลอดความยาวของชานชาลา โดยจะดูดควันไอเสียไปปล่อยออกที่ปลายชานชาลาทั้งหัวและท้าย แต่จะมีควันไอเสียตกค้างอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้โดยสารหรือไม่? การรถไฟฯ ควรขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมควบคุมมลพิษให้มาตรวจสอบ
เมื่อดูลักษณะอาคารสถานีกลางบางซื่อ พบว่าเป็นอาคารที่เหมาะสำหรับรองรับรถไฟฟ้า ดังนั้น การรถไฟฯ จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนรถไฟที่วิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อทุกขบวนจากรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้า
3.ข้อเสนอแนะ
ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป การรถไฟฯ จะไม่ให้รถไฟทางไกลซึ่งเป็นรถไฟดีเซลเข้าสถานีหัวลำโพง แต่จะให้รับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางบางซื่อแทน ดังนั้น การรถไฟฯ จะต้องเร่งแก้ปัญหาการใช้ส้วม และปัญหาการระบายควันไอเสียโดยด่วน อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ด้อยค่าสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเลย
แม้ผมไม่ใช่คนของการรถไฟฯ หรือที่เรียกกันว่า “คนรถไฟ” แต่ก็รักรถไฟไทยไม่น้อยกว่าคนรถไฟครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช
'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง
'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้
'ดร.สามารถ' แนะ นายกฯ ลด 'อุบัติเหตุจราจร' ช่วง สงกรานต์ เข้มงวดกวดขัน 'คนขับ'
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง แนะ “นายกฯ” ลด “อุบัติเหตุจราจร” ช่วง “สงกรานต์” มีเนื้อหาดังนี้่
'ดร.สามารถ' ถาม 'กพท.' ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน แนะกำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกม.
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน มีเนื้อหาดังนี้
เจ๊งวันละ 7.4 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย
สามารถแฉรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายครบ 30 วัน แล้ว ผงะ! ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ถามไปต่อหรือพอแค่นี้ ที่สำคัญอย่าลืมทุกสายต้อง 20 บาทเพราะหาเสียงไว้
เชื่อมั้ย! ค่ารถไฟฟ้าใน กทม. ต่ำสุดแค่ 3 บาท
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เชื่อมั้ย ? ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต่ำสุด 3 บาท !