หนุนรัฐบาลใหม่ ตั้งเป้า 9 ปี พาประเทศขับเคลื่อนสู่ประเทศรายได้สูง ชี้ ”นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง
7 พ.ค.2566 – รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทย หลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูง ภายในปี พ.ศ. 2575 อีก 9 ปีนับจากนี้ ไทยสามารถหลุดพ้นจากฐานะประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ สู่ ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้ในทศวรรษ พ.ศ. 2530 และ สะดุดลงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 และ หลังจากนั้นไทยก็ค่อยๆขยับตัวเองจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (a lower middle-income country) สู่ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (a upper middle-income country) ในเวลาต่อมา แต่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วได้
“อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ไทย ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานสุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมีคนไทย เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต ประเทศรายได้ระดับปานกลางระดับสูง คือ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 157,472-488,585 บาทต่อปี ขณะนี้ ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 234,000 บาทต่อปี ประเทศไทยติดอยู่กับกับดักรายได้ระดับปานกลางมาไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษ” รศ.รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุ
รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุด้วยว่า เป้าหมายหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การเปลี่ยนสถานะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี พ.ศ. 2580 ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ที่ตนเองเคยร่างเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทย ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2575 ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 488,585 บาทต่อปี
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศ สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
“โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุด้วยว่า หากการเปิดเสรีการค้ามีผลทำให้การนำเข้าสินค้าปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น หรือมีผลทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้นนั้นได้นำเทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตหรือกระบวนการทำงานใหม่ๆ ประเทศผู้นำเข้าหรือผู้รับการลงทุนเหล่านี้ก็อาจมีแนวโน้มจ้างแรงงานทักษะสูง การเปิดเสรีส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับความคุ้มครองจากกำแพงภาษีจะถูกบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้แข่งขันกับสินค้านำเข้าให้ได้ การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ.