กสม.ฟุ้งประชุมร่วมมสถาบันสิทธิมนุษยชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลุเปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมาน พ่วงปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์
2 ธ.ค.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2564 ระบุว่า กสม.ไทยร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมานระดับภูมิภาค ผลักดันการปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม., ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ กสม.ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 18 ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) มาเลเซีย (SUHAKAM) เมียนมา (MNHRC) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ)
ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันเปิดตัวแนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมานอย่างเป็นทางการ โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นเอกสารที่รวบรวมและเสนอแนวทางการป้องกันการทรมานเพื่อให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น สถานการณ์การป้องกันการทรมานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการป้องกันการทรมานและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในเรื่องการป้องกันการทรมาน การปกป้องบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกทรมาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยประเด็นการป้องกันการทรมาน เป็นหนึ่งในสี่ประเด็นสำคัญหลักที่ SEANF จะขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2565 – 2569 ด้วย
ก่อนหน้านี้ กสม. ได้มีข้อเสนออย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 ประธาน กสม.ได้แจ้งข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ไปยังประธานรัฐสภา ทั้งในส่วนหลักการสำคัญของกฎหมาย เช่น การเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่อาจละเมิดได้และไม่ควรมีอายุความ การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินคดีในชั้นศาล และการกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย
นอกจากการประชุมประจำปีของ SEANF เมื่อวันที่ 29 – 30 พ.ย. 2564 ประธาน กสม. และน.ส.ปิติกาญจน์ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำร่วมกับสมาชิก SEANF ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในระบบราชทัณฑ์ และการสนับสนุนวาระว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังประสบข้อท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาเชิงระบบของงานราชทัณฑ์ ซึ่งหลังจากนี้ SEANF จะได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือข้อหารือส่งไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศหรือเสนอในกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป
“ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประสบปัญหาสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอและได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความแออัดอันเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานและมาตรฐานสากลอย่างไม่ทั่วถึง การปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการคุมขัง การทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น การป้องกันการทรมาน จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี
กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ รร.นายร้อยตำรวจเร่งคดีล่วงละเมิดทางเพศ!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ