นักเศรษฐศาสตร์มธ. แนะต้องกดดัน สว. ยอมรับพรรคที่ประชาชนเลือกมาอันดับ 1


18 เม.ย.2566 - ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุให้พรรคการเมืองต่างพยายามเสนอนโยบายเรื่องปากท้องซึ่งประชาชนจับต้องได้ที่สุด

สำหรับนโยบายด้านสวัสดิการ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าพรรคการเมืองได้เน้นเรื่องการสร้างระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าพัฒนาการของระบบสวัสดิการไทยจะชะลอตัวลงในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ พบว่าพรรคการเมืองได้กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสวัสดิการอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความต้องการจากประชาชนในด้านนี้อยู่มาก

ผศ.ดร.ธร กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสวัสดิการที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสร้างระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ และยังมีนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ตลอดจนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับรายได้ของคนทั่วประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากเสนอว่านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องทำให้ครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับมิติเชิงคุณภาพของนโยบาย และควรบริหารจัดการอย่างเป็นระบบด้วย

ผศ.ดร.ธร กล่าวอีกว่า การใช้งบประมาณเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนถือเป็นเรื่องปกติของการจัดทำนโยบาย แต่ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือสุดท้ายจะใช้ได้มากเพียงใด แนวทางการจัดสรรเงินให้นโยบายต่าง ๆ เหมาะสมหรือไม่ และถึงแม้ว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะมีการแข่งขันกันโดยมีจำนวนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่คงไม่สามารถเหมารวมว่าทุกนโยบายเป็น ‘ประชานิยม’ ได้ โดยเฉพาะกับนโยบายที่เน้นการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

“นโยบายที่ช่วยขยายระบบสวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในระดับสากลแล้ว ประเทศไทยยังลงทุนเรื่องสวัสดิการค่อนข้างน้อย และยังมีนโยบายที่สามารถทำได้อีกหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยากจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการมารองรับ” ผศ.ดร.ธร กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองควรดำเนินการ เช่น นโยบายเรื่องการจำกัดอำนาจของทุนผูกขาด รวมถึงการทำให้ค่าแรงเหมาะสมทันตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การเพิ่มการดูแลเด็กเล็กที่ขาดโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มธ. กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงที่สุด ก็ยังต้องเผชิญกับด่านต่อไปในการทำนโยบายให้ออกมาได้จริง ได้แก่ 1. งบประมาณ ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำได้ครบทุกนโยบายตามที่มีการหาเสียงไว้ 2. ระบบราชการและการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง จากการที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

“อันดับแรกคือเราต้องช่วยกันกดดัน สว. ให้มากที่สุด ถ้าพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาได้อันดับ 1 ชัดเจนแล้วต้องการจัดตั้งรัฐบาล สว.ไม่ควรจะมีบทบาทไปสนับสนุนคนจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแทน เรื่องนี้ผมว่าเป็นหลักการสำคัญ แล้วยังมีปัญหาที่ควรตระหนักอีกว่า กรณีที่หากมีการเลือกนายกฯ ที่เป็นเสียงข้างน้อยขึ้นมา ก็จะมีปัญหาทางเสถียรภาพของรัฐบาลมากๆ และอาจจะกลายเป็นวิกฤตการเมืองที่ต้องไปแก้กันนอกระบบอีก ส่งผลให้ประเทศเกิดปัญหาทางการเมืองไม่จบสิ้น” ผศ.ดร.ธร กล่าว

ผศ.ดร.ธร ยังกล่าวด้วยว่า หนทางของการปรับปรุงทิศทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศหลังจากนี้ ในกรณีที่ได้รัฐบาลใหม่ อาจต้องเริ่มจากการรื้อมรดกบางประการจากรัฐบาลเก่า โดยเฉพาะข้อผูกมัดในหลายรูปแบบที่รัฐบาลเดิมวางไว้ มิฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงได้รัฐบาลใหม่มาก็อาจยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในระยะสั้น เพราะยังมีกลไกที่ถูกวางเอาไว้ที่ไม่เอื้อให้พรรครัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิพัฒน์' ปัด ภท.-รทสช. ฮั้วกันหนุน 'ถาวร' ชิงนายก อบจ.สงขลา

'พิพัฒน์' ปัดข่าว ภท.-รทสช. จับมือส่ง 'ถาวร' ชิง นายก อบจ.สงขลา ยันไม่เคยคุย 'พิมพ์ภัทรา' หลังลือจ่อย้ายซบพรรคนํ้าเงิน รับภูมิใจไทยอยากครองภาคใต้เพิ่ม แต่ไม่ใช้วิธีฮั้วรวมกันตี

'อังกินันทน์' ชนะขาด! ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.เพชรบุรี'

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อย่างไม่เป็นทางการ) ณ เวลา 23.59 น. โดยนับครบแล้วทั้ง 734 หน่วยเลือกตั้ง

ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.อุดรธานี' อย่างไม่เป็นทางการ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี

โค่นแชมป์เก่า! 'วาริน' คว้าชัย 'นายก อบจ.เมืองคอน' ทิ้งห่าง 'กนกพร'

ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการ ประกาศว่า นางสาววาริน ชิณวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 2 จากทีมนครเข้มแข็ง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"