11 เม.ย. 2566 – วิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน หรือ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวและอาจมีความเสี่ยงจะยิ่งแย่ลงในช่วงปีข้างหน้า เมื่อปรากฏการณ์ลานีญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากำลังจะปรับไปสู่เอลนีโญติดต่อกันในไม่ช้านี้ และอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากภาวะโลกรวน โดยสถิติย้อนหลังจากสถานีวัดตรวจคุณภาพอากาศ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สะท้อนค่าเฉลี่ย PM2.5 ช่วงเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี ขณะที่ จุดความร้อนที่นับได้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นมากสุดในรอบ 3 ปีโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
นอกจากการทำกิจกรรมต่างๆ จะมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็น มลพิษไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างประเภทต่างๆ แล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มักจะทำให้ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป ก็คือ การเผาในภาคเกษตรหรือพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว(นาปรัง) อ้อย ซึ่งมักจะมีการเผาก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกใหม่หรือเป็นการเผาไปเก็บเกี่ยวไป
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตพืชไร่ต่างๆ ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่ยังมีรองรับท่ามกลางเหตุการณ์ในยูเครนที่ยืดเยื้อและวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปรัง และอ้อย ในภาคเหนือของไทย ในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นรวมกันอีกราว 5.28 ล้านตันจากปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 รอบนี้ อาจก่อให้เกิดความสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เมษายน 2566) คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท จากปกติที่ตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (9 จังหวัด) เป็นมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทในช่วงเทศกาลนี้ของแต่ละปี โดยสะท้อนจากผลสำรวจการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เลือกจังหวัดทางภาคเหนือลดลงเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมักเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวและร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ขณะที่ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักยังประสบกับสถานการณ์ที่อัตราการจองที่พักล่วงหน้าต่ำและบางส่วนถูกยกเลิกการจอง
ไม่เพียงภาคเหนือเท่านั้น พื้นที่อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกันในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด หรือแม้กระทั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะเดียวกัน นอกจากผลกระทบด้านการท่องเที่ยวแล้ว วิกฤตฝุ่น PM2.5 ยังสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ อีกด้วย ที่สำคัญคือ ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งยากที่จะประเมินความสูญเสียออกมาเป็นมูลค่าได้ เนื่องจากไม่เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ผลกระทบอาจสะสมและนำมาสู่โรคระบบทางเดินหายใจในระยะยาว โดยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่น่าเป็นห่วงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
ดังนั้น การเร่งจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อดูแลคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านซัพพลายเชนในภาคการผลิตและภาคการบริการไปสู่กิจการที่ยั่งยืนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากปล่อยไว้ สถานการณ์อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะยิ่งมากขึ้นอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดกาลา ดินเนอร์ แห่งปี เรื่องราวเอ็กซ์คลูซีฟระดับโลกที่เต็มด้วย Passion ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดงาน THE WISDOM GALA DINNER ด้วยคอนเซปต์ The Legends to the New Eras ซึ่งสร้างสรรค์ความพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ
กสิกรไทยจัดฟอรัมใหญ่ EARTH JUMP 2024 รวมวิทยากรระดับโลกและไทย
กสิกรไทยจัดงาน “EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจไทยที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อภาวะโลกเดือดซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจาก
เหยื่อ 'แก๊งนักรบ' โผล่อีก! ผู้บังคับบัญชาพาพลทหารมอบตัวแล้ว
จากกรณีที่นายวิ่งและนางสาวกุลนันท์ ชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของ นายระพีพัฒน์ หรือแพต อายุ 16 ปี ได้นำคลิปหลักฐานขณะลูกชายถูกรุมทำร้ายร่างกาย