จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเขตภัยพิบัติไฟป่า เพิ่มเติมที่ อ.เชียงดาว ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นย่ำแย่หนักคละคลุ้งปิดทั้งภูมิภาค จนท.ดับสุดล้า ฝนหลวงทำงานหนักทุกวัน
5 เม.ย.2566 - จังหวัดเชียงใหม่ออกประกาศเขตภัยพิบัติภัยฝุ่นควันไฟป่าเพิ่มอีกในพื้นที่ อ.เชียงดาว หมู่ที่ 1,2,5,13 ต.เมืองนะ และ หมู่ที่ 2,4,6 ต.ทุ่งข้าวพวง ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง ที่เกิดไฟไหม้ป่าเป็นวงกว้าง โดยนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงนามในประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ด้วยไฟป่าที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาวเป็นสาธารณภัย ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ของประชาชน หรือก่อให้เกิดวัตถุมลพิษหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน
อาศัยอำนาจตามความ ข้อ 20 วรรคสาม ของระเบียบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ประกอบกับ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการจังหวัดจึงประกาศให้พื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 5, 13 ตำบลเมืองนะ - หมู่ที่ 2, 4, 6 ตำบลทุ่งข้าวพวงเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่เกิดภัยประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2566
ขณะที่นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขี้นบินปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และเติมน้ำให้เขื่อนกักเก็บโดยใช้เครื่องบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 4 ลำ บริเวณพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ป่าไม้ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยทำการบินบรรเทาผลกระทบทุกวัน
เวลานี้จังหวัดเชียงใหม่มีคุณภาพอากาศแย่เข้าขั้นวิกฤติต่อเนื่องวันนี้พบจุดความร้อนการเผา 146 จุด ยอดจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึงปัจจุบัน ทั้งหมดจำนวน 8,571 จุด โดยพบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ พบมากที่สุดคืออำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แจ่ม และแม่แตง ตามลำดับ เว็ปไซด์ https://www.iqair.com ได้รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดการเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก US AQI พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับ 1 มีค่า 291 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจากการรายงานคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ วันนี้เกินค่ามาตรฐานสูงกว่าวานนี้ มากที่สุดพื้นที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ที่เพิ่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติพบ PM2.5 มีค่า 252 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ค่าที่สูงสูดของภาคเหนือเวลานี้อยู่ที่ อ.ปาย 356 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งสับเปลี่ยนทีมดับไฟตอดเวลาเพราะทำงานเหนื่อยตลอดเดือน สภาพอากาศเหนือเมืองเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆของภาคเหนือเวลานี้ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันและกลิ่นควันไฟคละคลุ้งท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ข้อมูลจุด hotspot ดาวเทียมต่างๆรายงานตรงกันพบจุด hotspot ทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
PM2.5 มาแล้ว พบ ‘กทม.’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ
คุณภาพอากาศทั่วไทยอยู่ระดับปานกลางถึงดีมาก!
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ