'หมอธีระวัฒน์' ยกหลักฐานชี้การอักเสบเรื้อจะมีผลกระทบต่อร่างกายและสมอง แนะใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือหยุดสูบบุหรี่ไม่เช่นนั้นเมื่อรวมกับ PM2.5 จะเกิดการอักเสบเหมือนตายผ่อนส่ง
15 มี.ค.2566 - ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ”การอักเสบมีผลกระทบทั้งตัวและสมอง” ระบุว่า หลักฐานตั้งแต่ 2017 เป็นตันมา เริ่มจากการศึกษาชื่อ CANTOS 2017 ซึ่งพิสูจน์ว่าอักเสบเป็นตัวต้นเส้นเลือดตีบตัน และไขมันเลวอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่เป็นตัวตาม ตัวร่วม เพิ่มความเสี่ยงเบาหวาน และมะเร็ง และถ้ากำจัดการอักเสบได้ หัวใจวายลดลง แม้ไขมันเท่าเดิม และมะเร็งลดลง
การอักเสบยังเพิ่มความ เสี่ยงอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม จากการติดตามดูคนไข้ถึง 20 ปีด้วยกัน
บทความ Systemic inflammation during midlife and cognitive change over 20 years, The ARIC study วารสาร Neurology เดือนกุมภาพันธ์ 2019
ในการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโรคเส้นเลือดตีบตัน (Atherosclerosis Risk in Communities study) คัดเลือกติดตามชาวบ้านธรรมดาในชุมชนอเมริกัน ระหว่างปี 1987-1989 เป็นจำนวน 12,336 คน อายุเฉลี่ย 56.8 ปี เป็นเวลา 20 ปี ตอนเริ่มได้เจาะเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบ (C-reactive protein) และทำคะแนนการอักเสบของร่างกายจากการเจาะเลือด (fibrinogen, white blood cell, von Willebrand factor และ factor VIII)
จากนั้นนำคะแนนที่ได้ มาแบ่งเป็นสี่กลุ่มจากอักเสบน้อยไปถึงอักเสบมาก จากนั้นวัดความเฉียบแหลม ความสามารถด้านภาษาและความจำ ณ 3 ปี (1990-1992) กับ 9 ปี จนถึงตอนจบการศึกษาหลังจากประมาณ 20 ปี (2011-2013) หลังจากเจาะเลือดครั้งแรก และก็จะมีการโทรศัพท์ไปทุกปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการที่มีเส้นเลือดในสมองตีบตันระหว่างการศึกษาจะถูกคัดออก เพราะถือว่าทำให้สมองเสียหาย
ผลก็คือคนที่มีการอักเสบเรื้อรังตั้งแต่วัยกลางคนมีความเสี่ยงความจำ ความสามารถด้านภาษาและความจำไม่เฉียบคมในวัยแก่
โดยกลุ่มที่คะแนนการอักเสบจากการคำนวณผลเลือดหลายชนิดสูงที่สุด มีความเฉียบแหลมและความจำตกลงไป 7.8% จากตอนแรกที่ทำการทดสอบ เมื่อ 20 ปีก่อนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่การอักเสบต่ำสุด
ส่วนในกลุ่มที่มีค่าการอักเสบ C-reactive protein สูงสุดนั้นตกลงถึง 11.6% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่การอักเสบต่ำสุด นอกจากนั้นเมื่อกลับมาดูค่า CRP ก็พบว่าเมื่อมีค่าเกิน 1.05 mg/L จะมีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น
ต่อมาก็ดูความสัมพันธ์ของค่าการอักเสบกับความเสี่ยงสมองเสื่อม ว่ายิ่งค่าการอักเสบยิ่งสูงจะยิ่งเสี่ยงสมองเสื่อมหรือเปล่า (Dose-response relationship) ผลปรากฏว่าไม่พบความสัมพันธ์ ก็เลยแยกออกเป็น
กลุ่มระหว่างคนผิวขาว กับคนผิวดำ
ผลก็คือในคนผิวขาวจะเห็นว่ามีความสัมพันธ์และความเสี่ยงจะสูงไปตามค่าการอักเสบ แต่ไม่เห็นความสัมพันธ์นี้ในคนผิวดำ เหตุผล อาจเป็นไปได้ที่คนดำเสียชีวิตเยอะกว่าคนขาวและโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มที่ค่าอักเสบสูง คนที่เสียชีวิตได้ถูกตัดออกจากการศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้ผลคลาดเคลื่อนไปได้เราจึงไม่เห็นความเกี่ยวโยงกันในกลุ่มคนดำนั่นเอง
การศึกษานี้ได้ผลคล้ายกับการศึกษาการอักเสบกับสมองเสื่อมอีกการศึกษาหนึ่งชื่อว่า Honolulu-Asia Aging Study ซึ่งก็พบว่าวัยกลางคนที่มี CRP สูงเมื่อผ่านไป 25 ปีก็จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมมากกว่า
สิ่งที่สำคัญก็คือวัยกลางคนเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของปัญหา โดยการก่อตัวชองโปรตีนพิษบิดตัวเริ่มก่อนที่จะเกิดอาการนับสิบปี
การอักเสบเรื้อรังในช่วงวัยกลางคน เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการอักเสบเรื้อรังแล้ว ความดันสูงและไขมันก็เป็นความเสี่ยงสมองเสื่อมแต่ผลกระทบต่อสมองกลับไม่เหมือนกัน โดยความเสี่ยงสองตัวนี้จะไปกระทบทางด้านภาษาและความเฉียบแหลมมากกว่า (Sharrett et al Alzheimers Dememt 2017; Albert et al JAMA Neurology 2014)
กลับกันในการอักเสบเรื้อรังจะไปกระทบความทรงจำมากกว่า ซึ่งหมายความว่ากลไกการเกิดสมองเสื่อมของความเสี่ยงแต่ละกลุ่ม น่าจะไม่เหมือนกัน ตรงกับที่ทดลองในหนูที่จำลองการอักเสบและพบว่าฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนเก็บความทรงจำนั้นก็เล็กลง (Gourmaud et al Sci Rep 2015)
ทางป้องกัน ใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และลงทุนในสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ กินอาหารปลอดสารเคมี โดยกิน ผักเยอะ ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดน้ำหวาน รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมอสำคัญอย่าให้น้ำหนักเกิน หมั่นดูพุงอย่าให้ย้อย
ที่สำคัญที่สุดคือหยุดบุหรี่ ช่วยกันหยุดการใช้สารเคมีในอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ลดมลพิษไม่เช่นนั้น เมื่อรวมกับ PM2.5 ในอากาศ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ คือตายผ่อนส่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
‘หมอธีระวัฒน์’ อธิบายชัด ภาวะที่นอนแล้วลุกขึ้น มีความดันโลหิตร่วง
การตรวจโดยให้นอน 20 นาที และค่อยๆลุกขึ้น เปรียบเทียบความดันขณะนอนและขณะลุกขึ้น
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์