กสม. ตรวจสอบปมบริษัทเอกชนกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครงานตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานและปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ สถานพยาบาลที่รับตรวจและแจ้งผลละเมิดด้วย
09 มี.ค.2566 - นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ว่าได้สมัครงานกับบริษัทเอกชนซึ่งประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งในพื้นที่ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เมื่อผู้ร้องผ่านการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้ร้องไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพยาบาลได้เจาะเลือดผู้ร้องโดยไม่แจ้งว่าจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี จากนั้นโรงพยาบาลได้ส่งผลการตรวจสุขภาพของผู้ร้องไปยังบริษัทฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องได้รับแจ้งว่าบริษัทฯ ไม่สามารถรับผู้ร้องเข้าทำงานได้ เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติให้การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในสภาพทางกายหรือสุขภาพจะกระทำไม่ได้ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับประกันถึงการมีอยู่ของสิทธิในการทำงาน ซึ่งการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางสุขภาพอันรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์นั้น คณะกรรมการประจำกติกา ICESCR ได้มีความเห็นทั่วไปหมายเลข 18 ถือว่าเป็นการจำกัดการเข้าถึงสิทธิในการทำงาน นอกจากนี้ นโยบายการตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงานยังขัดต่อแนวปฏิบัติเรื่องโรคเอดส์ในโลกแห่งการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งวางแนวปฏิบัติไว้ว่า ไม่ควรมีการตรวจหาเชื้อเอดส์ในกระบวนการสรรหาบุคคลหรือการต่ออายุการจ้างงาน สอดคล้องกับหลักการตามคู่มือด้านเอชไอวีและสิทธิมนุษยชนสำหรับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จัดทำโดยโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติซึ่งวางหลักการว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยตรง
กรณีตามคำร้องนี้ มีประเด็นที่ กสม. พิจารณาแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การที่บริษัทฯ กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่าการที่บริษัทฯ กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวและปฏิเสธรับผู้ร้องเข้าทำงาน เพราะปรากฏผลการตรวจสุขภาพว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งที่ข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงาน เนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในการทำงานและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายจุมพล กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง การดำเนินการของโรงพยาบาลในการรับตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีแก่ผู้ร้องในฐานะผู้สมัครงาน และการแจ้งผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีไปยังบริษัทฯ โดยตรง เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า แม้โรงพยาบาลผู้รับตรวจสุขภาพจะชี้แจงว่าได้ให้ผู้เข้ารับการตรวจลงชื่อยินยอมในหนังสือแสดงความยินยอมก่อนเข้ารับการตรวจและยินยอมให้แจ้งผลการตรวจให้แก่บุคคลอื่นแล้ว แต่การให้ความยินยอมในลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแสดงความยินยอมตามแบบฟอร์มซึ่งจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้ให้คำปรึกษาและข้อมูลแก่ผู้เข้ารับการตรวจเพื่อประกอบการตัดสินใจและให้ความยินยอมก่อนเจาะเลือดตรวจหาเชื้ออย่างเคร่งครัด ตามแนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับเอชไอวีที่ประกาศโดยแพทยสภา ลงวันที่ 9 ต.ค.2557 ซึ่งกำหนดไว้ว่า การตรวจการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลทั่วไป แพทย์ต้องจัดให้มีการให้คำปรึกษาก่อนตรวจเป็นรายบุคคลหรือให้อ่านเอกสารข้อควรรู้ก่อนการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี และต้องมีการขอและให้ความยินยอมที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนการแจ้งผลการตรวจต้องแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบเป็นการส่วนตัว และต้องรักษาความลับอย่างเคร่งครัดโดยไม่แจ้งผลให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้รับการตรวจหรือตามกฎหมาย โดยผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของบุคคล ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การให้ความยินยอมโดยอิสระบนพื้นฐานความสมัครใจของผู้เข้ารับการตรวจอย่างแท้จริง ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า การที่โรงพยาบาลรับตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้สมัครงานให้กับบริษัทฯ และส่งผลตรวจเอชไอวีให้แก่บริษัทฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจจากผู้เข้ารับการตรวจ เป็นการสนับสนุนให้นายจ้างนำผลการตรวจไปใช้เป็นเงื่อนไขพิจารณาว่าผู้สมัครงานรายใดขาดคุณสมบัติในการเข้าทำงาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานนั้น กสม.ได้เคยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่จากสภาพการณ์ปัจจุบันยังคงปรากฏข้อร้องเรียนทำนองเดียวกับกรณีตามคำร้องนี้อยู่ ทำให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติแห่งชาติที่เกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่า ไม่สามารถบังคับใช้ต่อหน่วยงานเอกชนได้ อีกทั้งพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่มีสภาพบังคับเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเรื่องสิทธิการทำงานอย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 จึงมีข้อเสนอแนะต่อบริษัทและโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวในฐานะผู้ถูกร้อง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม สรุปได้ดังนี้
1.ให้บริษัทฯ ตามคำร้องนี้ ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงาน พนักงาน หรือลูกจ้างของนายจ้างหรือสถานประกอบการไม่ว่าในขั้นตอนการรับสมัครงาน ขณะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาใด ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานหรือเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน และดำเนินการตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 รวมถึงประกาศกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 และให้โรงพยาบาลเอกชนตามคำร้องยกเลิกรายการตรวจหาเชื้อเอชไอวีแก่ผู้สมัครงานหรือพนักงานในนิติกรรมใด ๆ ที่ทำไว้กับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานอื่นใด หากมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการสมัครงานหรือพิจารณารับเข้าทำงาน รวมทั้งปฏิเสธการแจ้งผลตรวจหาเชื้อเอชไอวีในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
2.ให้กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สร้างความรู้ความเข้าใจให้นายจ้างและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามประกาศกระทรวงแรงงานตามข้อ 1.โดยเฉพาะกรณีให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานหรือใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการรับสมัครงาน รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการเอดส์ในสถานประกอบการ (ASO Thailand) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกำหนดนโยบายให้สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ในการกำกับดูแลให้ความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อยุติปัญหาเอดส์ประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 - 2573
3.กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน ควรร่วมกันสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างได้ตระหนักว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถเรียนได้ ทำงานได้ อยู่ร่วมกันได้ และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรักษาและการป้องกันที่มีความก้าวหน้าและเป็นข้อมูลใหม่ที่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ทราบ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่กระบวนการรักษาและกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น
4.กระทรวงสาธารณสุขควรบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การใช้กลไกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2542) เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32 (3) กับสถานบริการทางการแพทย์ที่มีบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและเปิดเผยผลการตรวจต่อบุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ รวมถึงการดำเนินการให้มีมาตรการเชิงลงโทษต่อสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
และ 5.กระทรวงแรงงานควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเร่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยทบทวนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในโลกแห่งการทำงาน กำหนดให้การบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ตลอดจนการนำผลตรวจมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย โดยให้มีสภาพบังคับและมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมควรเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ... ต่อคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาให้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงหลักการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีที่กระทบต่อสิทธิการทำงานเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักกฎหมาย กติกา และแนวปฏิบัติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ
จองเวรต่อ! ยกผลสอบ กสม. สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 2 รมต.
'เรืองไกร' จองเวรต่อ! ยกคำวินิจฉัย กสม. ร้อง กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 'สมศักดิ์-ทวี' ส่อขัด ม.160 ฝ่าฝืนจริยธรรมข้อ 8