เพราะก้าวแรกของ 'นักศึกษา' คือช่วงเวลาเปราะบางที่ 'มหา’ลัย' ต้องโอบรับ'หอพัก' จึงต้องเป็น safe zone ที่เข้าใจ

2 มี.ค.2566 - การก้าวข้ามจากชีวิตนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เยาวชน-คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวออกจาก ‘Comfort Zone’ เดิม เปลี่ยนทั้งสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ และประสบการณ์ใหม่ สถาบันการศึกษาในฐานะ ‘บ้านหลังที่สอง’ ที่จะต้องดูแล ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำหน้าที่นี้ผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม

ตัวอย่างที่น่านำมาเป็นต้นแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือการบริหารจัดการ “หอพัก” โดย สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ที่ต้องการสร้าง Safe Zone ให้เกิดขึ้นจริงบนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ลดความเครียด และเอื้อต่อการเรียนรู้ บนความมุ่งหมายที่จะพัฒนาให้เข้าใกล้คำว่า “บ้าน” มากที่สุด

“เรามักคิดว่าหอในหรือหอพักที่อยู่ในมหาวิทยาลัย มีแต่กฎเกณฑ์เข้มงวด ไม่มีความอิสระ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหอพักธรรมศาสตร์อย่างแน่นอน” พินทุไกร มาลา ผู้จัดการหอพัก สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ระบุ และว่า เพราะ “ความอิสระ” คือปัจจัยที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพอันซ้อนเร้นของนักศึกษา มธ. จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นลำดับแรกๆ

นอกจากการเปิดให้เข้า-ออก ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว หอพัก มธ. ยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัย smart security system แบบ 2 ชั้น

ชั้นแรกเป็นพื้นที่รอบนอกหรือพื้นที่รับรอง มีพนักงานรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง มีกล้องวงจรปิด มีระบบสแกนใบหน้าบุคคลต้องสงสัยและผู้มีประวัติอาชญากรรม ขณะที่ชั้นที่สอง หรือพื้นที่ชั้นในสำหรับอยู่อาศัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 1,600 ตัว ตลอดจนระบบสแกนทะเบียนรถ กล้องตรวจจับใบหน้าก่อนขึ้นหอพักอีก 128 ตัวเสาสัญญาณ SOS Poll กรณีต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินอีก 13 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อข้อมูลมายัง Command room ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องผ่านการฝึกฝนและเสริมทักษะในการเฝ้าระวังเหตุ มีการ Upskill เตรียมความพร้อมต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ตลอดเวลา

“อย่างเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่สำเพ็งซึ่งเกิดจากน้ำมันในหม้อแปลงร้อนจัดจนเดือด เมื่อเราเห็นข่าวก็เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ทันที ตรวจสอบว่าในพื้นที่หอพักมีความเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่ อุปกรณ์มีความพร้อมหรือไม่ หรืออย่างเหตุกราดยิง เราก็มีการซักซ้อมเจ้าหน้าที่เพื่อเผชิญเหตุทันที” ผู้จัดการหอพัก มธ. ระบุ

หอพักหลายแห่งทำหน้าที่เป็นเพียงที่พักอาศัย แต่สำหรับหอพัก มธ. แล้ว นี่คือพื้นที่ของ “การใช้ชีวิต” อย่างแท้จริง

เนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายข้อจำกัดเรื่องการซ้อนทับของพื้นที่ใช้งาน (Overlapping Functions) พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่มีทางจักรยานพาดผ่านเชื่อมถึงกันในแต่ละโซน มีจักรยานให้ยืม หรือแม้กระทั่งเรื่องปากท้อง ที่แห่งนี้มีการจัดตั้ง “ครัวกลาง” ครอบคลุมทุกโซน พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาหารพร้อมสรรพ นักศึกษาสามารถทำอาหารกินกันได้เช่นเดียวกับที่อยู่ที่บ้าน หรือแม้แต่ร้านยา ร้านตัดผม ฯลฯ ก็มีอย่างครบครัน

“การมีพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิต” คือหัวใจของหอพัก มธ. นำมาสู่การสร้างระบบนิเวศใหม่ให้นักศึกษา ครัวไทย-ครัวอบขนม ทำหน้าที่มากกว่าการประกอบอาหาร แต่คือพื้นที่ของการหลอมรวมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่อ่านหนังสือ Co-working space ช่วยเติมเต็มวิชาการในบรรยากาศผ่อนคลาย ลานกีฬา-ห้องออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถภาพควบคู่ไปกับลดความเครียด ตลาดนัดของมือสองเกิดขึ้นเพราะต้องการให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน

ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีแรงกดทับจากทั้งตัวเองและครอบครัว นักศึกษาคาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ย่อมมีอัตราการแข่งขันที่สูง ช่วงใกล้สอบจึงเป็นช่วงที่เด็กแสดงอาการทางจิตเวช-ความเครียด-ความพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด

การพัฒนาหอพักเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย “ทางอารมณ์และความรู้สึก” และการออกแบบกลไกดูแลสุขภาพจิตเชิงรุกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยหอพัก มธ. มีสายด่วน call center 24 ชั่วโมง ที่เชื่อมต่อกับศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City) คลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ Student Advisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา-จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คอยดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด

“ทุกความต้องการของนักศึกษาเป็นสิ่งที่เราจะนำกลับมาพิจารณา ส่วนจะทำได้หรือทำไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยืนยันว่าเราพิจารณาในทุกๆ ข้อเสนอที่ได้รับ” พินทุไกร ยืนยัน และยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้การเลือกร้านอาหารในโรงอาหาร จะมีกิจกรรมที่เรียกว่า “วันเปิดชิม” คือเชิญชวนร้านอาหารมาทำอาหารให้นักศึกษาโหวต ทั้งความคุ้มค่า รสชาติ ปริมาณ ฯลฯ

ถ้าเปรียบหอพักเป็นบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เขาต้องการ โดยทุกคนร่วมสร้าง และร่วมกันใช้ประโยชน์ ที่นี่จึงเป็น safe zone ในความหมายของพื้นที่ปลอดภัย และเป็น safe zone ในวันที่ชีวิตของนักศึกษากำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการ มธ. แนะมาตรการรับมือสาธารณภัยในชุมชนเมืองเก่า

นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะท้องถิ่น-สำนักงานเขต สำรวจข้อมูลใหม่ทุก 5 ปี “สร้างคลังข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน” เพื่อเตรียมทรัพยากร วางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ หากไม่สามารถแก้ผังเมือง-โครงสร้าง-กรรมสิทธิ์ที่ดิน

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ