25 พ.ย.2564 - เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเหริน เจิ้งเฟย (Mr. Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ซึ่ง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการหารือว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ชื่นชมการดำเนินกิจการของบริษัทหัวเว่ยฯ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของโลก ขอบคุณบริษัทฯ ที่ได้สนับสนุนรัฐบาลในการรับมือสถานการณ์โควิด – 19 ทั้งการบริจาคหน้ากากอนามัยและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ขอบคุณความร่วมมือที่มีให้รัฐบาลไทย และขอบคุณที่เลือกทีมงานที่มีศักยภาพและความพร้อมมาประจำการที่ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการร่วมงานกับรัฐบาลไทยเสมอมา
นายธนกร กล่าวว่า ด้านนายเหรินฯกล่าวยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นการพบกันผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศซึ่งไทยสามารถบริหารสถานการณ์ให้ดีขึ้นจนประกาศการเปิดประเทศ ขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่รัฐบาลไทยมีให้หัวเว่ย ตลอดมา ทั้งนี้หัวเว่ยต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างแท้จริง
นายธนกร กล่าวว่า นายกชื่นชมและเชื่อมั่นในศักยภาพด้านเทคโนโลยีของหัวเว่ย และชื่นชมนายเหรินฯ โดยได้อ่านหนังสือ “ใช่ หัวเว่ย หรือไม่ที่จะล้มเป็นรายต่อไป” เกี่ยวกับเรื่องราวของ หัวเว่ย ปรัชญาการบริหารจัดการของนายเหรินฯ และหนังสือ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” จึงต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่เคียงข้างการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทยมาตลอด ในโอกาสนี้ นายเหรินฯ ได้แนะนำความสำเร็จของบริษัทฯ ในการใช้ ระบบ 5G ผสมผสานกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านทำงานในหลายพื้นที่ในประเทศจีน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการหารือกันในวันนี้จะเป็นการสร้างแนวทางใหม่ๆ พัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศไทย
นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 5G และพร้อมขยายความร่วมมือในสาขาที่ทางหัวเว่ยมีศักยภาพ ได้แก่ การเกษตรดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการพัฒนาระบบ Logistics ที่ประเทศจีนมีศักยภาพน่าชื่นชม นายเหรินฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือที่หัวเว่ยได้มีกับไทยโดยในการพัฒนาเศรษฐกิจพัฒนานวัตกรรม หัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy ในเขต EEC ซึ่งทำการอบรมแล้วกว่า 1 แสนคน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน ซึ่งไทยพร้อมจะมีความร่วมมือเพื่อให้ประชาชนในประเทศจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือกับหัวเว่ยในการสร้างโอกาสของความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมกับชาวไทยต่อไป