'จุรินทร์' สั่งลุย 'ตลาดข้าวส่งออก' เร่งส่งเสริมการขายในต่างประเทศ เน้นเชิงรุก ทั้ง 'เจรจา-โปรโมชั่น-OBM'

25 พ.ย.2564 -   นางมัลลิกา บุญมีตระกูลมหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามรายงานสถานการณ์ตลาดข้าวโซนใกล้ โดยสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงาน พร้อมนายจุรินทร์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการตามแผนโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวประจำปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 โดยยึดหลักการ “ตลาดนำการผลิต” โดยอาศัยเครือข่ายของทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยบรรลุเป้าหมายปริมาณ 6 ล้านตันตลอดปี 2564
               
นางมัลลิกา ระบุว่า ทั้งนี้ตลาดส่งออกข้าวไทยบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาด เห็นได้จากอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ตลาดญี่ปุ่น นำเข้าข้าวจากไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณ 215,580 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่า 3,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวขาว 100% เป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ ข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ตามลำดับ ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ขนมเซมเบ้ ผลิตเหล้าอาวาโมริ ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมืองของจังหวัดโอกินาวา ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่นิยมอาหารไทย และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวมากกว่าข้าวเมล็ดสั้น รวมทั้งข้าวเหนียวจากไทยยังได้รับการยอมรับจากชาวญี่ปุ่นว่า มีคุณภาพดีและสามารถนำมาผลิตเหล้าสาเกได้รสชาติดีเยี่ยมอีกด้วย โดยทีมเซลส์แมนที่โตเกียวได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Rakuten การร่วมกับทีมเซลส์แมนจังหวัดจัดเจรจาการค้าออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai SELECT โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหาร “Tabelog” ซึ่งเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับซูปเปอร์มาเก็ต Beisia ในเมืองรอง การใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์มาประชาสัมพันธ์ข้าวไทย การส่งเสริมการจำหน่ายอาหารไทยผ่านรถอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัค เป็นต้น

ตลาดจีน นำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 339,177 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.15 คิดเป็นมูลค่า 5,716.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ39.19 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทีมเซลส์แมนประเทศที่จีนได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสินค้าข้าวไทยทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจำหน่ายข้าวไทยผ่านร้านขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มเถาเป่า การจัดกิจกรรม In-Store Promotion การร่วมมือกับร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ส่งเสริมการใช้ข้าวไทยในเมนูอาหารและให้ Key Opinion Leader (KOL) รีวิว รวมถึงการจัดทำคลิปวิดีโอสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้าวไทยให้เพิ่มขึ้น

ตลาดมาเลเซีย นำเข้าข้าวจากไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 (ก.ค. - ก.ย. 64) มูลค่ารวม 30.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 5,239.66 และเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 594.39 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการซื้อเพื่อกักตุนหรือสำรองไว้ที่บ้านช่วงที่มีมาตรการ Lockdown รวมถึงการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายรัฐซึ่งแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ อาทิ เคดาห์ กะลันตัน ตรังกานู (ฝั่งตะวันตก) ซาบาห์ และซาราวัก (ฝั่งตะวันออก)

ตลาดฟิลิปปินส์ ปริมาณนำเข้าข้าวจากไทย 95,999 ตันในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 51.09 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีโดยมีปัจจัยบวกทั้งจากผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวไทยที่มีแนวโน้มลดลงในระดับที่แข่งขันได้ รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยที่ผ่านมา ทีมเซลส์แมนประเทศที่กรุงมะนิลาได้จัดกิจกรรมขยายตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดประชุมหารือกับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมข้าวไทยผลิตภัณฑ์ข้าวไทยภายใต้แคมเปญ Think Rice Think Thailand ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ซึ่งช่วยกระตุ้นการจำหน่ายและการบริโภคข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์เป็นอย่างดี เป็นต้น
     
สำหรับแผนการจัดกิจกรรมขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการทุกช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบ เพื่อประชาสัมพันธ์เพิ่มการรับรู้แก่ผู้บริโภคท้องถิ่น เพื่อขยายโอกาสการส่งออกข้าวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยทีมเซลส์แมนประเทศได้เริ่มเตรียมการโครงการต่าง ๆ เช่น ทีมเซลส์แมนประเทศที่ญี่ปุ่นจัดกิจกรรมส่งเสริมเมนูข้าวกล่องอาหารไทย โดยใช้ข้าวหอมมะลิจำหน่ายในโรงอาหารตามออฟฟิสต่างๆ รวมทั้งซูปเปอร์มาร์เก็ตทั้งเมืองหลักและเมืองรอง และส่งเสริมเมนูอาหารไทยที่ประกอบด้วยข้าวไรซ์เบอรรี่จำหน่ายในร้านอาหารภายในโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยให้อยู่ในระดับพรีเมียม รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Foodex 2022 โดยจัดสาธิตการทำอาหารไทยเพื่อสุขภาพ โดยใช้ข้าวหอมมะลิและข้าวไรส์เบอรี่ เป็นต้น
     
"ทั้งนี้รองนายกฯ จุรินทร์ให้คำแนะนำเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ส่งออกข้าวของไทยว่า การขยายตลาดส่งออกข้าวของไทยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับเทรนด์หรือกระแสในแต่ละตลาดด้วย ตัวอย่างเช่น ตลาดจีนควรมุ่งเน้นข้าว พรีเมียมให้มากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มเด็ก ข้าวแปรรูปสำหรับเด็ก กลุ่มคนป่วย ข้าวน้ำตาลต่ำ โดยเน้นประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของข้าวไทย นอกจากนี้ ในทุกภูมิภาคของจีนยังต้องผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการขายข้าวไทยในช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งการใช้ KOL ไลฟ์สดร่วมกับ KOL การสนับสนุนให้ร้านอาหารไทยใช้ข้าวไทย เป็นต้น ตลาดญี่ปุ่นเน้นข้าวประเภท Functional Food เช่น ข้าว  ออแกนิค ข้าวไรซ์เบอรี่ ตามกระแสรักสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ข้าวแพ็คพร้อมรับประทานแบบอุ่นไมโครเวฟก็เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากตอบโจทย์สังคมเร่งรีบและการทำงานที่บ้าน ตลาดมาเลเซียเน้นตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวสังข์หยด ภายใต้กลยุทธ์ Deepening and Widening Business Relations เน้นการขยายตลาดทั้งมิติเชิงกว้าง ขยายฐานลูกค้า ผู้บริโภค และเชิงลึก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้ารายใหญ่ ตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์ เน้นข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ New Crop เนื่องจากใกล้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน และข้าวเป็นสินค้ามงคลที่ชาวจีนนิยมใช้เป็นของฝากในช่วงเทศกาล เป็นต้น " ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง