ประกาศแล้ว 'มาตรฐานทางจริยธรรม' ว่าด้วยหลักเกณฑ์การรายงานผลการดำเนินการ

14 ก.พ.2566 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การรายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรมข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมพ.ศ. 2565

โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 กำหนดให้คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) มีหน้าที่และอำนาจสำคัญประการหนึ่ง คือ กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตลอดจนตรวจสอบรายงานประจำปีของหน่วยงานภาครัฐ และรายงานสรุปผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยหน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงานประจำปีผ่านองค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรตามมาตรา 6 วรรคสอง แล้วแต่กรณี เพื่อประเมินผลในภาพรวมของหน่วยงานของรัฐเสนอต่อ ก.ม.จ.

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า

“ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การรายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรมและกระบวนการรักษาจริยธรรม พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้

“ก.ม.จ.” หมายความว่า คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่ากระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร แต่ไม่หมายความรวมถึง หน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึงกรรมการในคณะกรรมการที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ ด้วย

“องค์กรกลางบริหารงานบุคคล” หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้นรวมทั้งคณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

“องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม” หมายความว่า องค์กรกลางบริหารงานบุคคลคณะรัฐมนตรี สภากลาโหม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน และองค์กรที่ ก.ม.จ. วินิจฉัยว่าเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ข้อ 4 ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรม รวมถึงข้อมูลการจัดหลักสูตรการฝึกอบรม การเผยแพร่ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล การจัดทำมาตรการจูงใจเพื่อพัฒนาและส่งเสริมเจ้าหน้าที่ของรัฐการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการสร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน หรือการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำเป็นรายงานประจำปี เสนอต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคล หรือองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม แล้วแต่กรณี ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี

ข้อ 5 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล หรือองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม กำกับติดตามให้หน่วยงานของรัฐมีการจัดทำและเสนอรายงานตามข้อ 4 เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินผลในภาพรวม เสนอต่อ ก.ม.จ. ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

ข้อ 6 การรายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรมข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรูปแบบตามที่ ก.ม.จ. กำหนด

ข้อ 7 ให้สำนักงาน ก.พ. รวบรวมและวิเคราะห์รายงานผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรม ขององค์กรกลางบริหารงานบุคคล หรือองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม แล้วแต่กรณี เพื่อประเมินผลในภาพรวมและจัดทำรายงานประจำปีพร้อมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อ ก.ม.จ.ภายในเดือนมกราคมของทุกปี และรายงานสรุปผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ข้อ 8 เพื่อประโยชน์ในการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐองค์กรกลางบริหารงานบุคคล และองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม เปิดเผยรายงานการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมได้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

ข้อ 9 ให้เลขาธิการ ก.พ. รักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565
วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม

140D033S0000000000100

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันเอกหญิงคุณหญิงมนัสสิยา ทิพยวชิราภักดิ์ เป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 313 ง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ประกาศ ให้นายทหารสัญญาบัตร แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ

โปรดเกล้าฯ กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ดำรงตำแหน่ง 'นางสนองพระโอษฐ์' ดำรงตำแหน่งมีวาระ 3 ปี

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ หลักเกณฑ์กำหนดการดำรงตำแหน่ง “นางสนองพระโอษฐ์” ให้มีวาระ 3 ปี เว้นแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเวลาอีกคราวละ 3 ปี