ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 'อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ' 17 สาขา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
11 ก.พ.2566 - เว็บไซต์ราชกิจจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 12)
ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 17 สาขา โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (4) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ “มาตรฐานฝีมือ” หมายความว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ข้อ 3 อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับ ให้เป็นดังนี้
(1) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเก้าสิบห้าบาท
(2) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาช่างระบบปั๊มและวาล์ว ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสิบห้าบาท
(3) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท
(4) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาช่างปรับ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท
(5) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก-แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยยี่สิบบาท
(6) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสี่สิบห้าบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยสามสิบห้าบาทและระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละเจ็ดร้อยสิบห้าบาท
(7) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยหกสิบห้าบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสามสิบห้าบาทและระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยยี่สิบบาท
(8) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยแปดสิบห้าบาท
(9) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยเจ็ดสิบบาท
(10) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยห้าสิบห้าบาท
(11) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยยี่สิบบาท
(12) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด)ระดับ1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท และระดับ2เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
(13) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด)ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
(14) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด)ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
(15) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละสี่ร้อยเจ็ดสิบห้าบาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยยี่สิบห้าบาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
(16) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยสามสิบบาท
(17) สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละห้าร้อยยี่สิบบาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละหกร้อยบาท
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 3 (1) ถึง (17) คำว่า“วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง
ข้อ 5 นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือความรู้ ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าจะครอบคลุมมาตรฐานฝีมือนั้นทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้น
ข้อ 6 ภายใต้บังคับข้อ 5 ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับใด ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็ว
เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราในประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้างนับแต่วันที่ได้หนังสือรับรองเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566
บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์
ปลัดกระทรวงแรงงาน
ประธานกรรมการค่าจ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พิพัฒน์” กำชับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ร่วมสร้างเกราะป้องกันในสถานประกอบการ ดูแลคนทำงาน ลดการสูญเสีย มุ่งเป้าลดอันตรายร้ายแรง 1:1,000 คน
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ.2567” ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 .
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือภาคีเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ 2567” สภากาชาดไทย
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย นางสาวบุปผา รอดสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มบริษัทไทยสมายล์บัส(TSB) กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์(EA) บริษัท ไบ่ ลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
'วันนอร์' ยกเครื่อง ออกระเบียบตั้งที่ปรึกษา กมธ. สภาฯ หลังปมฉาวใช้ตำแหน่งตบทรัพย์
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2567 มีเนื้อหาระบุว่า
ในหลวง โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ 2 รูป
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์
ในหลวงโปรดสถาปนา 'พระเทพวชิรญาณ' ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์