รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ปลูกถ่าย 'หัวใจ' สำเร็จรายแรก หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาการดี-ไม่มีแทรกซ้อน

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ประกาศความสำเร็จ! ภายหลังโชว์ศักยภาพการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ด้วยวิธี ‘ปลูกถ่ายหัวใจ’ ได้เป็นรายแรก โดยขณะนี้ผู้ป่วยอาการโดยรวมดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

10 ก.พ.2566 - รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายได้สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ถือเป็นโรงพยาบาลลำดับที่ 6 ของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้

สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจ คณะกรรมการปลูกถ่ายหัวใจ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วยศัลยกรรมโรคหัวใจและทรวงอก ซึ่งมีทีมพัฒนาคุณภาพการบริการผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ประกอบด้วย ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์ งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก เป็นผู้เริ่มดำเนินการเตรียมรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายด้วยวิธีการปลูกถ่ายหัวใจ (heart transplantation) เนื่องจากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยา

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน เม.ย. 2565 มีทีมพยาบาล ได้แก่ ทีมพยาบาลประสานงาน พยาบาลผู้จัดการรายกรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ทีมพยาบาลห้องผ่าตัด ทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยต่างๆ และทีมนักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียม (Perfusionist) ได้ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถัดจากนั้นศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่าย มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวมีการนำผู้ป่วยเข้ากระบวนการประเมิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการและตรวจหัตถการเพิ่มเติมเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยเป็นผู้รอรับบริจาคหัวใจกับทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ลงทะเบียนในเดือน ธ.ค. 2565 เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 50 ปี ผลการวินิจฉัยโรค คือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย (End stage heart failure) เข้ารับการตรวจรักษาและติดตามอาการในคลินิกโรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure clinic) โดย พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน และ ผศ.นพ.อดิศัย บัวคำศรี มาโดยตลอด

พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน อายุรแพทย์ผู้รักษา กล่าวว่า การจากตรวจรักษาผู้ป่วยรายนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย และได้รับการบริจาคหัวใจจากผู้บริจาคในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2566 โดยเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จากทีมศัลยแพทย์ทรวงอก นำทีมโดย ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ร่วมกับทีมอายุแพทย์โรคหัวใจ ซึ่งมีกระบวนการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด และดูแลรักษาต่อเนื่องภายหลังการผ่าตัด มีทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ ทีมพยาบาลประจำหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก ทีมพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายหัวใจ และพยาบาลผู้จัดการรายกรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ในการติดตามการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด

ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์หัวหน้าทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ กล่าวว่า ผลการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเป็นที่น่าพอใจของทีมแพทย์ ตอนนี้ผู้ป่วยปลอดภัยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อยู่ในระหว่างการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาลผู้ดูแล

รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ มธ. ถือเป็นความสำเร็จน่าภาคภูมิใจที่แพทย์ธรรมศาสตร์สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเป็นรายแรกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และคณะแพทยศาสตร์ มธ. และทีมสหวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยในครั้งนี้ โดยปัจจัยที่สำคัญในความสำเร็จครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยทางคณะแพทย์ได้สนับสนุนให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ และอายุรแพทย์โรคหัวใจได้ศึกษาต่อทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็นการเฉพาะมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อมาทำงานร่วมกับบุคลากรสหวิชาชีพจึงเกิดความสำเร็จในครั้งนี้ขึ้น ทางคณะมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ทั้งในด้านวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้แก่แพทย์ของเราเพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

พว.ปริศนา ปทุมอนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล กล่าวว่า ในส่วนของทีมพยาบาลดูแลผู้ป่วยมี พว.ดุษาร์กร เปียทิพย์ หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก เป็นหัวหน้าทีมในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งการเตรียมรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ทีมบุคลากร และแนวทางปฏิบัติในการพยาบาลทุกขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่เตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดที่หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (CCU) หลังผ่าตัดในระยะแรกที่หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก (ICU CVT) และในระยะฟื้นฟูสภาพเตรียมจำหน่ายที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมพิเศษ 1

ทั้งนี้ ในระยะหลังผ่าตัดได้มีการควบคุมป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวด เช่น จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องแยก อุปกรณ์ เครื่องมือทุกชนิดจะผ่านการฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามมาตรฐานก่อนนำไปใช้ มีการจำกัดการเข้าห้องผู้ป่วยเพียงบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลเท่านั้น เป็นต้น ในส่วนของทีมบุคลากรได้เตรียมความพร้อมในการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในโรงพยาบาล และให้ความรู้เฉพาะในหน่วยงานที่รับผู้ป่วยโดยตรง ส่งทีมพยาบาลศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบ และจัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือ TU heart transplantation protocol ตั้งแต่เตรียมรับผู้ป่วย การประสานงาน การดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด การเตรียมผู้ป่วยจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Discharge planning) รวมถึงการเตรียมผู้ป่วยเพื่อกลับไปใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านกับครอบครัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ยื้อชีวิต 'บุ้ง ทะลุวัง' อย่างเต็มที่แล้ว

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์เรื่อง ชี้แจงการเข้ารับการรักษาของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) ระบุว่าวันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.30 น. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) จากทัณฑสถาน

'เอกชัย หงส์กังวาน' ทรุดหนัก! ทนายจี้ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ เร่งส่งตัวไปรักษาที่รพ.ธรรมศาสตร์

ทนายยื่นหนังสือถึง ผอ.รพ.ราชทัณฑ์ เร่งส่งตัว ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ไปรักษาที่รพ.ธรรมศาสตร์ คาดอาการอยู่ในขั้นรุนแรงถึงชีวิต

'รพ.ธรรมศาสตร์'โต้'บัวแก้ว'ไม่เคยแจ้งเหตุที่ไม่ยอมรับรองการขอรับบริจาค Moderna ให้แก่มธ.

'รพ.ธรรมศาสตร์'โต้ก.ต่างประเทศไม่เคยแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่สามารถรับรองการรับบริจาควัคซีน Moderna จากโปแลนด์ ยันแจ้งหลักเกณฑ์และจำนวนค่าใช้จ่ายที่จะขอเรียกให้ผู้แทนกต.ทราบแล้ว