9 ก.พ.2566 - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า กรงเทพมีคน 5.7 ล้าน ไปงานเกษตรแฟร์ 5 ล้าน !!! ตัวเลขอาจเกินเลยไปบ้าง แต่ความแน่นขนัดเป็นเรื่องจริงสำหรับงานแฟร์ที่เก่าแก่และใหญ่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
ผมไปเกษตรแฟร์ตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อพาไป จำได้ว่ามีต้นไม้ขายเต็มไปหมด แต่งานจัดมานานก่อนผมเกิด ย้อนยุคไปถึงหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ท่านตั้งใจจัดงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2491 นับนิ้วถึงปีนี้ เป็นเวลา 75 ปี ถ้าเป็นชีวิตมนุษย์ก็แก่เฒ่าชราแล้ว แต่เกษตรแฟร์ไม่เคยชราถดถอย ในทางตรงข้าม นี่คืองานที่ปรับเปลี่ยนตัวเองได้เก่งที่สุดงานหนึ่งของไทย
ใครอยากดูงานด้าน disruption ไม่ต้องไปไหนไกล มาดูใกล้ๆ ที่เกษตรแฟร์ พืชผักผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย โดนใจคนเดินแฟร์ในแต่ละช่วงวัย สังเกตง่ายๆ คืออาหาร
แต่บางอย่างไม่เปลี่ยนนะครับ เพื่อนธรณ์ บางอย่างคงทนต่อเวลา บางอย่างเป็นประสบการณ์แรกๆ ของนิสิตหลายท่าน จนกลายเป็นศาตราจารย์ จนเกษียณ ก็ยังยิ้มได้เมื่อคิดถึงความสนุกในค่ำคืนนั้น
ลมหนาวพัดผ่าน เตาปิ้งกุ้งร้อนระอุ เสิร์ฟเท่าไหร่ก็ไม่ทันสักที โต๊ะนั้นสั่งโต๊ะนี้เช็คบิล ชีวิตชั้นแสนวุ่นวาย ยังมีกองจานชามที่ล้างเท่าไหร่ก็ไม่มีทางหมด ผมกำลังพูดถึง “ประมงซีฟู้ด” ร้านอาหารที่คงอยู่คู่งานเกษตรแฟร์มายาวนานหลายสิบปี อาหารสดอร่อยจากฝีมือของชาวมีนกรที่โด่งดังไปทั่วไทย
มหาลัยที่ผมทำงานอยู่มาเกือบ 30 ปี อาจไม่ติดอันดับท็อปร้อยสุดยอดม.โลก อาจไม่ใช่สถานที่คิดค้นนวัตกรรมสุดขีดขั้ว แต่ผมรักมหาลัยแห่งนี้ เพราะหากโลกนี้มีการจัดอันดับ “มหาวิทยาลัยติดดิน” มากที่สุด ผมเชื่อว่าเกษตรศาสตร์จะเป็นหนึ่งในผู้นำโลกนอกจากงานวิชาการระดับเข้าถึงรากหญ้า ในขอบเขตรั้วสีเขียว ยังมีงานหนึ่งที่ผู้คนหลั่งไหลมามากมาย กระจายรายได้ สร้างงานให้พี่น้องผู้ประกอบการหลายพันชีวิต
และสำคัญสุดคือสร้างทักษะให้นิสิต ประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่หลายคนนำไปใช้จนทำมาหากินได้ และอีกหลายคนกว่า อมยิ้มเมื่อคิดถึงความสนุกในครั้งนั้น ในค่ำคืนที่ชั้นปิ้งกุ้ง
สำหรับผม เกษตรแฟร์คือผลงานที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรแฟร์ ผลงานที่ม.ระดับไหนในโลกก็สร้างไม่ได้
ไม่ต้องให้มีใครมาประเมินหรือให้คะแนน คนที่หลั่งไหลไปงานเป็นคำตอบ งานแฟร์มหาลัยที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก !
งานหมดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หวังว่าเพื่อนธรณ์คงจะไปทัน และหากไป อย่าลืมแวะประมงซีฟู้ด อาจรอนานหน่อยเพราะโต๊ะแน่น แต่เด็กๆ ทุกคนกำลังทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยรอยยิ้มและความตื่นเต้นจากประสบการณ์แปลกใหม่ ที่เห็นผู้คนหลั่งไหลเข้ามา
นี่ไม่ใช่การขายเพียงอาหาร นี่คือการสนับสนุนความฝันของเด็กรุ่นใหม่
อีก 50 ปีต่อไป เธอและเขาอาจยังจำได้ถึงความสนุกในการให้บริการคุณๆ ในค่ำคืนนี้ ยังรวมถึงร้านของคณะอื่นๆ ในมหาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมาย้ำเตือนเพื่อนธรณ์อีกครั้ง งานหมดวันที่ 11 กุมภาพันธ์
ในคณะประมง เรามี 🦐🦑🦀🐟 และน้องๆ ทุกคนพร้อมปิ้งย่างต้มยำให้ทุกท่านในร้าน “ประมงซีฟู้ด”
ในงานแฟร์ของมหาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก
คารวะบูรพาจารย์ที่จัดงานนี้มาเมื่อ 75 ปีก่อน ท่านจากไป งานท่านคงอยู่ จารึกไว้ที่ทุ่งบางเขน สร้างรอยยิ้มและความสุขให้คนเป็นล้านในทุกๆ ปี
นี่คือความหมายของคำว่า “บูรพาจารย์”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
ดร.ธรณ์ เผยเหตุพายุธรรมดา กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
'ดร.ธรณ์' เจอด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังที่เกาะกูด แค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้ว
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก
ดร.ธรณ์ เปิดภาพปะการังไทยยุคทะเลเดือด บอกทำงานในทะเลเกือบ 40 ปี ไม่เคยเห็น
นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ
‘ดร.ธรณ์’ ชี้ธรรมชาติรับไม่ไหวแล้ว แจ้งเตือนรับมือฝนโลกร้อน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat"
‘ดร.ธรณ์’ น้ำตาซึม โลกร้อน ไข่เต่ามะเฟือง 120 ฟอง ไม่มีลูกเกิดแม้แต่ตัวเดียว
ไม่ว่าเราทุ่มเทขนาดไหน มีบางครั้งที่โลกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ไข่เต่ามะเฟืองของแม่ 14 กุมภา 120+ ฟอง ไม่ได้รับการผสมทั้งหมด ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว