ร้อง สตง. สอบปมเรือสำรวจประมง 'จุฬาภรณ์-มหิดล' ทรุดโทรม ไม่ได้ออกทะเลเกือบ 20 ปี

ประชาชนผู้จงรักภักดี ยื่นผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบ เรือสำรวจประมง "จุฬาภรณ์-มหิดล" เกิดการทรุดโทรม ล้าสมัย ไม่ได้ออกเดินทะเลมหาสมุทรมาเกือบ 20ปีแล้ว สูญเสียโอกาสในการหารายได้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจพิเศษได้เต็มศักยภาพ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้

2 ก.พ.2566 - นายบรรยง ไผ่เฉลิม ประชาชนผู้จงรักภักดี ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการบริหารจัดการเรือสำรวจประมง “จุฬาภรณ์” และเรือสำรวจประมง “มหิดล” จนเกิดการทรุดโทรม ล้าสมัย ทำให้การใช้งานขาดประสิทธิภาพ ของกรมประมง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีเนื้อหาดังนี้

ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๔ อนุมัติให้จัดซื้อเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ จากประเทศญี่ปุ่น โดยได้มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือ และได้ส่งมอบ ณ ท่าเทียบเรือกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๙ โดยกรมประมงขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนาม “จุฬาภรณ์” เป็นชื่อเรือสำรวจ ประมง และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้เสด็จทรงเจิมเรือและทรงประกอบพิธีขึ้นระวางเรือสำรวจประมง “จุฬาภรณ์” ณ ท่าเทียบ เรือโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๐ เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์เป็นเรือปฏิบัติการสำรวจทะเลลึก และเป็นเรือสำหรับฝึกอบรม ชาวประมง นิสิต นักศึกษา ติดตั้งเครื่องมือทำการประมง ประกอบด้วย เบ็ดราวทูน่า เบ็ดราวน้ำลึก เบ็ดราวหน้าดิน อวนลากแผ่น ตะเฆ่ อวนลอย อุปกรณ์การวิจัย ประกอบด้วย กว้านสมุทรศาสตร์ และอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการเคมี ฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการชีววิทยาประมง เครื่องอะคูสติก ตลอดจนอุปกรณ์ช่วยหาฝูงปลา เช่น โซนาร์ (Sonar) และ Echo – Sounder สำหรับสำรวจแหล่งทำการประมงทั้งในน่านน้ำและนอกอาณาเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย รวมถึงการสำรวจร่วมกับต่างประเทศที่มีความสนใจด้านการประมง ทรัพยากรทางทะเลของประเทศนั้น ๆ เพื่อการลงทุนร่วมกันต่อไป

ต่อมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จัดจ้างบริษัทต่อเรือ ฮายาชิกาเนะ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นต่อเรือและส่งมอบเรือเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ซึ่งกรมประมงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระราชทานบรมราชานุญาต ให้เชิญพระนาม "มหิดล" เป็นชื่อเรือลำนี้ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิภวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จทรงเจิมเรือสำรวจประมง “มหิดล” ณ ท่าเทียบเรือโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๘ เรือสำรวจประมงมหิดลเป็นเรือสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่ทันสมัยของกรมประมง ใช้ในการ สำรวจวิจัยแหล่งและชีววิทยาของปลาทูน่าในบริเวณทะเลลึก และเป็นเรือต้นแบบเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ ชาวประมงหันมาทำการประมงปลาทูน่า และเป็นเจ้าของเรือประมงทูน่าที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้ใน ภารกิจพิเศษ เช่น การฝึกอบรม นิสิตนักศึกษา อบรมชาวประมง การสำรวจร่วมกับต่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลอันเนื่องมาจากอุบัติภัยต่าง ๆ

เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ออกปฏิบัติภารกิจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๓๖ ปี และเรือสำรวจประมงมหิดลออกปฏิบัติภารกิจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๘ ปี แม้ว่ามีการซ่อมบำรุงประจำปีเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ แต่เนื่องจากเรือสำรวจประมงทั้ง ๒ ลำ เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมีความซับซ้อน และมีอายุการใช้งานอันยาวนาน ส่งผลให้เครื่องจักรกล เครื่องยนต์เรือ เครื่องมือเดินเรือ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในสภาพชำรุด ทรุดโทรม ใช้งานได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ปัจจุบันเรือทั้ง 2 ลำ ไม่ได้ออกเดินทะเลมหาสมุทรมาประมาณเกือบ 20ปีแล้ว การซ่อมบำรุงประจำปีทำได้เพียงให้เรือสามารถเดินเรือได้ในระยะใกล้ ๆ ไม่สามารถออกไปทำการประมงในมหาสมุทรได้

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้การบริการจัดการเรือเป็นไปอย่างขาดประสิทธิ ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการหารายได้จากการทำการประมงในมหาสมุทรที่มีทรัพยากรทางทะเลสูง รวมถึงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจพิเศษ เช่น การฝึกอบรม นิสิตนักศึกษา อบรมชาวประมง การสำรวจร่วมกับต่างประเทศ ได้เต็มศักยภาพ

"ข้าพเจ้านาย บรรยง ไผ่เฉลิม ในฐานะประชาชนผู้จงรักภักดี เห็นว่าจากสภาพความทรุดโทรมและล้าสมัยของเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้ชื่อ “จุฬาภรณ์และมหิดล” เป็นเรื่องไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง จึงเรียนมายังท่านผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการในการแก้ไข เพื่อให้เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์และเรือสำรวจประมงมหิดล มีความสามารถ มีประสิทธิภาพและทันสมัย ในด้านการสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อมทางการประมง และให้การอบรมเรื่องการทำการประมงทางทะเลและมหาสมุทรนอกน่านน้ำไทยกับบุคลากร ภาคการประมง และภาคการศึกษา รวมถึงมีศักยภาพอย่างเพียงพอ ในการทำประมง ในมหาสมุทรนอกน่านน้ำไทย"หนังสือร้องเรียนระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อฟ้องศาลปกครอง ฟันกรมประมง-บิ๊กเอกชน ทำปลาหมอคางดำระบาดหนัก

ายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่ากรมประมง โดยคณะกรรมการ IBC อนุญาตให้บิ๊กเอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าปลาหมอคางดำ

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน