กรมอุตุฯ เผยฤดูร้อนของไทยในปีนี้ เริ่มปลาย ก.พ. ช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

1 ก.พ.2566 - กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย 2566 โดยระบุว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะสูงกว่าปีที่แล้ว (ช่วงฤดูร้อนปี 2565 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส) และปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะใกล้เคียงค่าปกติ

ข้อควรระวัง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว

สำหรับ บริเวณประเทศไทยตอนบน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง จากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีกำลังอ่อนและไม่ต่อเนื่อง

จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40 - 43 องศาเซลเซียส และจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง เนื่องจากจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับจะมีตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม

ส่วนช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่ในบางช่วง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่หรือลมใต้พัดปกคลุม จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน

ขณะที่ ภาคใต้ ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ทั้งนี้เนื่องจาก ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง

จากนั้นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร เนื่องจากลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้แทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ อัปเดตพายุโซนร้อน 'พระพิรุณ' เตือน 33 จังหวัด เจอฝนตกหนัก 60-70%

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ “พระพิรุณ” ฉบับที่ 6 ระบุว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันนี้ (22 ก.ค. 67) พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 20.2 องศาเหนือ

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'พระพิรุณ'

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “พระพิรุณ” ฉบับที่ 5 (145/2567) โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 36 จังหวัด รับมือท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับพายุโซนร้อน

กรมอุตุฯ ประกาศฉ.4 พายุพระพิรุณขึ้นฝั่งจีนตอนใต้ 21-23 ก.ค. ไม่ส่งผลกระทบไทย

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ