รองโฆษกฯทิพานัน แจ้งข่าวดี 'ชาวลพบุรี-นครสวรรค์'

21 ม.ค.2566 - น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางและขนส่ง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจ การค้า การลงทุน เป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจการค้าและโลจิสติกส์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในภูมิภาค

ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างเต็มที่โดยได้ผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 21,467 ล้านบาท ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพื่อเร่งยกระดับให้บริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนานไปกับทางรถไฟเส้นเดิมของช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ รวมระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางรถไฟและเป็นทางวิ่งระดับพื้นระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร และทางช่วงเลี่ยงเมืองลพบุรีเป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ประกอบด้วยงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 2 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม

สัญญาที่ 1 ได้แก่ ช่วงบ้านกลับ – โคกกระเทียม เป็นการเป็นก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ใหม่ เพื่อเบี่ยงแนวเส้นทางเดิมช่วงที่ผ่านเข้าตัวเมืองลพบุรี ระยะทาง 29 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี สิ้นสุดบริเวณสถานีโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับ 23 กิโลเมตร และทางรถไฟระดับพื้นดิน 6 กิโลเมตร เดือนธันวาคม 2565 ก้าวหน้าไปแล้ว 81.72%

สัญญาที่ 2 ช่วง ท่าแค – ปากน้ำโพ เป็นงานก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มอีก 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทาง 116 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค จังหวัดลพบุรี โดยก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เดือนธันวาคม ก้าวหน้าไปกว่า 75.60 %

ส่วนงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม เดือนธันวาคม มีความก้าวหน้า 26.33% ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม ในส่วนของการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นหลัก มีการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามและกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศ ผสมผสานกับความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชน และการคมนาคมขนส่งของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ และมีการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเดิมทุกสถานี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2566

"พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำเรื่องการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัย และให้ความสำคัญกับโครงการนีโดยเคยลงไปตรวจความคืบหน้าโครงการด้วยตนเองเมื่อปี 2561 ทั้งนี้เชื่อว่าหากโครงการนี้แล้วเสร็จถือเป็นความตั้งใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะพลิกโฉมการขนส่งทางรางไทยให้รวดเร็วทันสมัย เพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน ลดเวลาการเดินทางเพราะด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาเดินทางระหว่าง กรุงเทพฯ - นครสวรรค์เพียง 2 ชั่วโมง 40 นาที ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ด้วยการรองรับการขนส่งสินค้า 144,000 ตัน/วันในปี 2577 กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และท้องถิ่น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกพื้นที่ไม่แบ่งแยกหรือเลือกจังหวัด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมโทรโข่งรัฐบาล ติวเข้มโฆษกกระทรวงส่ง 'ข่าวดี' ทุกสัปดาห์ เร่งตีปี๊บผลงาน 3 เดือน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายคารม พลพรกลาง นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'ดุสิตโพล' เปิดดัชนีการเมืองล่าสุด พบผลงาน แพทองธาร พุ่งเด่น ฝ่ายค้านคะแนนตก

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,136 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ย 5.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2567 ที่ได้ 4.80 คะแนน