ครม.ไฟเขียวงบฯกองทุนวิจัยปี 67 วงเงิน 31,100 ล้านบาท

10 ม.ค.2566- รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 31,100 ล้านบาท ตามที่ สกสว. เสนอผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกองทุนฯ จะแบ่งการใช้งบประมาณเป็น 3 ส่วน ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ผ่านมติ ครม.แล้ว คือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ภาวะฉุกเฉิน และเพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาความรู้ขั้นแนวหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายในอนาคต

ทั้งนี้ วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีมติเห็นควรให้มีการตั้งคำของบประมาณของกองทุนส่งเสริม ววน. เท่ากับกรอบวงเงินดังกล่าวเพื่อสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมจำนวน 188 หน่วยงาน ก่อนที่ สกสว. จะเสนอคำของบประมาณของกองทุนฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงบประมาณต่อไป

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท จะถูกจัดสรรใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (ก) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60-65 เพื่อสนับสนุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศตามแผนด้าน ววน. และ (ข) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ โดยในปี 2567 จะเพิ่มการขับเคลื่อนผลงานวิจัยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 เท่า

“ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2580 เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจฐานราก และเลื่อนอันดับดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากอันดับที่ 44 มาอยู่ในอันดับที่ 35 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 และการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการปรับตัวสู่อนาคต จึงจำเป็นต้องลงทุนด้าน ววน. เพื่อขับเคลื่อน BCG ของประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต เกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนด้วยนวัตกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบรางและโลจิสติกส์ การสร้างการเติบโตในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม การพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง การผลิตบัณฑิตทักษะสูงและการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ขณะที่การแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ หมอกควัน PM2.5 โลกร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากงบลงทุนด้าน ววน. ดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายการลงทุนด้าน ววน. ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.0 ในปี พ.ศ. 2580” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวสรุป

เพิ่มเพื่อน