29 ธ.ค. 2565 – นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มจะกลายเป็นวิกฤติหนักของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกภาคส่วนวางแผนแก้ปัญหาวิกฤตดังกล่าวอย่างยั่งยืน
“ในอีก 11 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุของไทยจะสูงขึ้นเป็น 28% ถือเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ส่วนด้านผลิตภาพแรงงานของไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 64 ประเทศ มีแรงงานนอกระบบมากถึง 52% ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการ ในระยะยาวจะกระทบต่อรัฐในการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านสุขภาพ ขณะที่กลุ่มผู้ว่างงานและอยู่นอกระบบการศึกษา (Non Education Employer Development : NEED) มีมากถึง 1.3 ล้านคน หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าประเทศไทยจะเผชิญปัญหาหนัก แต่ตอนนี้เรามีช่องว่างที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ คือ การเตรียมพัฒนากำลังคนให้ทำงานได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาและเตรียมการตั้งแต่วัยเด็ก จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมพัฒนากำลังคนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้”
ทั้งนี้ ศธ.เตรียมแนวทางดำเนินการไว้แล้ว เช่น ความร่วมมือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกระดับแผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผนระดับ 2 เพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ, วางแผนพัฒนาระบบ Up-Skills Re-Skills ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือและช่วยเหลือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมพัฒนาการสมองแต่ละช่วงวัย, กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลความต้องการของตลาดงาน, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ศธ.ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนระยะสั้น ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าของปี 2566 ด้วยแนวคิด “สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่า” เพื่อสร้างความสุขให้กับกลุ่มผู้สูงอายุทุกกลุ่ม คือ ครูเกษียณอายุราชการ กลุ่มแรงงานไม่มีสวัสดิการ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ กลุ่มที่ต้องการอาชีพเสริม กลุ่ม NEED ด้วย 5 กลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ
- ความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีโอกาสทางวิชาชีพหลังเกษียณ
- ส่งเสริมการสร้างอาสมัคร กระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
- การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพในระดับสูง เข้ามาเป็นวิทยากรฝึกอบรมวิชาชีพ ในศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน
- การส่งเสริมการสร้างรายได้จากวิชาชีพชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
- การยกระดับห้องสมุดชุมชน ให้เป็นมากกว่าห้องสมุด โดยปรับโฉมให้เป็นแหล่งค้นคว้าที่ทันสมัย แหล่งเรียนรู้วิชาชีพ และเรียนรู้สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ
แนวทางระยะสั้นในการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ จะเปิดรับสมัคร อส.ศธ. ผ่านระบบออนไลน์ วางเป้าหมายมีผู้สมัครกว่า 30,000 คน โดย อส.ศธ.ซึ่งกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะเป็นบุคลากรสำคัญในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยพัฒนากำลังคนทุกกลุ่มวัยในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมคนในอนาคต รวมทั้งกลุ่มผู้สูงวัยด้วย เช่น เป็นครูอาสาสมัครจิตอาสา เพื่อเข้ามาช่วยงานการศึกษา มุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในชุมชน พร้อมเก็บเป็นฐานข้อมูลการเข้าสู่ระบบการศึกษา ออกกลางคัน หรือมีภาวะความรู้ถดถอยในด้านไหน อส.ศธ. จะเข้าไปช่วยเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นให้
ทั้งนี้ ผู้สนใจที่จะเข้าเป็น “อาสาสมัคร กระทรวงศึกษาธิการ” นอกจากจะเป็นผู้เกษียณอายุ และมีจิตอาสาแล้ว จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่าง ๆ โดย ศธ.จะพิจารณาใช้งบประมาณที่มีอยู่ ไม่ขอเพิ่มจากภาครัฐ รวมถึงดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีค่าตอบแทน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่เข้าไปทำงาน เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพกำลังคนและผู้สูงวัย ให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ร่วมพาประเทศไทยผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดี” ปลัด ศธ. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ข่าวดีผู้เกษียณ! เปิดตำแหน่งงานกว่า 4 พันอัตรา
'คารม' เผยรัฐบาลเดินหน้าสร้างโอกาสทำงานวัยเกษียณ จับมือ 16 ธุรกิจเอกชน เปิดตำแหน่งงานกว่า 4 พันอัตราทั่วประเทศ สมัครได้ที่เว็บไซต์ 'ไทยมีงานทำ.doe.go.th' หรือแอปพลิเคชัน 'ไทยมีงานทำ'
กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning
กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม
'รมช.ศธ.' เคลียร์ปมเปิดบัญชีรับบริจาค เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้
'สุรศักดิ์' แจงปมเปิดรับบริจาค ช่วยเหลือครู-นักเรียน เหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ มอบ 'สพป.อุทัยธานีเขต 2' รับผิดชอบหลัก