'บิ๊กตู่' ร่ายผลงานประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษวันที่ 2 ชี้กาประชุมมีความสำคัญ เพราะอียูเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน โชว์วิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งเรื่องวามมั่นคง-เศรษฐกิจสังคม
15 ธ.ค.2565 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทุกท่านครับ เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.2565) เป็นวันที่สองในภารกิจต่างประเทศของผม ซึ่งเป็นไฮไลต์ของการเดินทางมาครั้งนี้ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยมีประเด็นสำคัญที่จะหารือกัน ได้แก่
1. ร่วมกันหาแนวทางสร้างความเข้มแข็งในฐานะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" (Strategic Partnership) ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป
2. แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความท้าทายของโลก เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล
การประชุมนี้ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของอาเซียน (สถิติปี 2564) รองจากจีนและสหรัฐฯ โดยมูลค่าการค้าระหว่างกัน อยู่ที่ 215.9 พันล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของอาเซียน และสหภาพยุโรปเป็นผู้ลงทุน Foreign Direct Investment (FDI) ลำดับที่ 1 ของอาเซียน โดยมีมูลค่า 144 พันล้านยูโร
ดังนั้น ประเด็นที่หยิบยกมาหารือกันในครั้งนี้ ผมในฐานะที่เป็นผู้แทนชาวไทยทั้งประเทศ ได้นำเสนอการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่โลกใบนี้ ด้วยแนวคิดที่ว่า "อาเซียน-อียู : ร่วมกันสร้างสรรค์ บันดาลก้าวหน้า นำพายั่งยืน" โดยมี 2 หลักการสำคัญ คือ
1.หลักการด้านความมั่นคง โดยความท้าทายของโลกในปัจจุบัน คือ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผมได้นำเสนอว่า
(1) การสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ และการลดความเสี่ยง-ลดการเผชิญหน้า จะเป็นแนวทางสู่สันติภาพ ที่เป็นทางออก และคำตอบสุดท้าย ของการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
(2) เราต้องแยกพื้นที่ "ความขัดแย้ง" ออกจาก "ความร่วมมือ" คือ สงวนพื้นที่สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านเศรษฐกิจ ให้กับผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
2.หลักการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-โลกร้อน-การเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งเป็นทั้งความรับผิดชอบและรับผลกระทบร่วมกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ผมจึงได้นำเสนอแนวทาง 4 ข้อ ดังนี้
(1) สมควรสร้างกลไกการทำงาน และเวทีประสานงาน สำหรับการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ ใกล้ชิดกัน เพื่อสร้างโลกที่เข้มแข็ง และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ให้มวลมนุษยชาติ
(2) ไทยยินดีเป็นกำลังสำคัญ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารโลก ในปีหน้า และขอเชิญทุกผู้แทนประเทศเข้าร่วม
(3) เราควรตั้งเป้าหมายร่วมกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยขอให้สหภาพยุโรปได้สนับสนุนขีดความสามารถของอาเซียน ทั้งด้านเทคนิคและเงินทุน ในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนไม่นำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนความพยายามของอาเซียนในเรื่องนี้
(4) เราควรแสวงหาแนวทางการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้ามามี่สวนร่วมในการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรการราคาคาร์บอน รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวปฏิบัติที่ดีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและการลดคาร์บอน
ซึ่งทั้ง 2 หลักการนี้ ประเทศไทยได้ยึดถือเป็นหลักพื้นฐานมาโดยตลอด และได้นำไปสู่การปฏิบัติแล้ว จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี อาทิ (1) การผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในทุกภาคส่วนของประเทศ และในเวทีการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ (2) การขับเคลื่อนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบ ครบวงจร ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุน ไม่ใช่เพียงตัวรถ แต่ครอบคลุมเรื่องชิ้นส่วน-อะไหล่-แบตเตอรี่ไฟฟ้า-สถานีชาร์จด้วย มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการสนับสนุนภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นต้น ซึ่งกำลังพลิกโฉมประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิต EV ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และ (3) การปรับโครงสร้างพลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน-พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) เป็นต้น
ผมเชื่อว่าพลังแห่งความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนของอาเซียน สหภาพยุโรป และชาวโลกในภาพรวม โดยในระยะเปลี่ยนผ่าน จำเป็นต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งโลก ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อทั้งชนรุ่นเรา และรุ่นลูกหลานในวันข้างหน้า ซึ่งเราต้องเริ่มต้นทันที ตั้งแต่วันนี้นะครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ลุงป้อม' เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่
'ลุงป้อม' สดใส เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ รับอวยพรปีใหม่ ย้ำพระราชเสาวนีย์พระพันปีหลวง ปกป้องป่าให้ลูกหลาน ด้าน ผบ.เหล่าทัพ ทยอยอวยพร 3 ป. วานนี้
นายกฯอิ๊งค์ สวมเสื้อ 'คุณหญิงพจมาน' ผ้าจากโครงการแม่ฟ้าหลวง ร่วมประชุมอาเซียน
ภารกิจการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ชู 3 ประเด็นถกอาเซียน-ญี่ปุ่น
นายกฯอิ๊งค์ ร่วมเวทีประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น เสนอ 3 แนวทาง 'ดิจิทัล-พลังงานสีเขียว -นวัตกรรม' เพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน
นายกฯ ไทยหารือทวิภาคีนายกฯสิงคโปร์
'นายกฯอิ๊งค์' หารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรก จับมือส่งเสริมธุรกิจอาหาร-การท่องเที่ยว พร้อมรับผู้นำสิงคโปร์เยือนไทยอย่างสมเกียรติในปีหน้า
เปิดภารกิจอาเซียน 'นายกฯอิ๊งค์' วันแรกที่ สปป.ลาว
เปิดกำหนดการประชุมอาเซียนวันแรก นายกฯ แพทองธาร ร่วมประชุมสุดยอด และหารือกับผู้นำอาเซียนหลายชาติ
'พีระพันธุ์' ยัน รทสช.หนุนแคนดิเดตจากเพื่อไทยแต่ต้องไม่มีเรื่อง 112
'รทสช.' ยันจุดยืนหนุนแคนดิเดตเพื่อไทยเป็นนายกฯต่อ แต่ต้องไม่แก้ ม.112 ยังไม่เคาะชื่อ 'ชัยเกษม นิติสิริ' หลังถามเรื่องสุขภาพ ลั่นไม่มีข้อตกลงบ้านจันทร์ส่องหล้า ด้านนโยบายเงินหมื่นรอ 'พท.' ชี้แจง