'ดร.เอ้' ชวนคนไทยเรียนรู้ภารกิจ 'อาร์เทมิส1' จุดกำเนิด 'ความฝัน' ที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติ

'ดร.เอ้' ชวนคนไทยเรียนรู้ภารกิจ'อาร์เทมิส1' จุดเริ่มต้นของการกลับไปเหยียบดวงจันทร์ในยุคใหม่ กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม สร้างความร่วมมือกับนานาชาติ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ จุดกำเนิดของ 'ความมุ่งมั่น' กับ 'ความฝัน' ที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติ

14ธ.ค.2565- ดร.สุชัชวีร์- ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (เอ้) อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง คนไทยได้เรียนรู้อะไรจากภารกิจอาร์เทมิส 1 บ้าง? มีเนื้อหาดังนี้

นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมวลมนุษยชาติอีกครั้ง เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2022 เวลา 12.40 น. ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา ยานอวกาศโอไรออน (Orion) ในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) ได้เดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยตามแผน โดยได้ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจการเดินทางของ ภารกิจอาร์เทมิส 1

นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 50 กว่าปี ที่สหรัฐอเมริกาจะกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อปี 1972 ตั้งแต่เราหลายคนยังไม่เกิด

อาร์เทมิส 1 นั้นเป็นภารกิจก้าวแรก เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับไปเหยียบดวงจันทร์ในยุคใหม่ ภายใต้แนวคิดในการไปตั้งฐานที่มั่นอาณานิคมบนดวงจันทร์ในทศวรรษที่ 2030 ภารกิจ อาร์เทมิส 1 เป็นเสมือนการ “ซ้อมใหญ่ครั้งแรก” เพื่อตรวจสอบการใช้งานของตัวยานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่อเมริกานั้นจะส่ง มนุษย์อวกาศจริง ๆ ไปเหยียบดวงจันทร์ในภารกิจ อาร์เทมิส 3 ภายในปี 2025 หรือ อีกเพียง 3 ปีเท่านั้น

หลายๆ ท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าอเมริกาลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยตลอดโครงการ อาร์เทมิสตั้งแต่ปี 2012 – 2025 โครงการจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว อเมริกาและโลกจะได้ผลประโยชน์อะไร? จากภารกิจนี้

ผมขออธิบายสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายๆ มาให้ดังนี้นะครับ

1.) เป็นการส่งสัญญาณ "กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม"
เพราะที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมอวกาศได้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ แขนกล ระบบฟอกอากาศ คอมพิวเตอร์พกพา หรือ อุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น ๆ มากมาย หลายชิ้นก็ได้อาศัยองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการสำรวจอวกาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งเทคโนโลยีรถไฟฟ้า ทีกำลังเปิดตัวครึกโครม ในประเทศไทย หลายส่วนก็พัฒนามาจากเทคโนโลยีอวกาศ

2.) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ "การจ้างงานแรงงานทักษะสูง"
โครงการด้านอวกาศให้เกิดการจ้างแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก แรงงานทักษะสูงเหล่านี้ก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต ทั้งอากาศยาน ยานยนต์ จนถึงการแพทย์และสาธารณสุข

3.) สร้าง "ความร่วมมือกับนานาชาติ" ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน
เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศกับนานาชาติภายใต้ข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ซึ่งมีมากกว่า 21 ประเทศเข้าร่วม (ยังไม่มีประเทศไทย) ซึ่งจะช่วยในการและเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การประสานงาน กับสมาชิก รวมถึงการสร้างข้อกำหนดในการใช้ทรัพยากรในอวกาศ
โครงการอวกาศเสมือนเป็น "การทูตที่วิเศษที่สุด" ไม่แบ่งสีผิว ไม่แบ่งศาสนา เพราะเป็นการทำงานเพื่ออนาคตลูกหลานชาวโลกทุกคน

4.) สร้าง "องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่" ที่ได้รับจากภารกิจอาร์เทมิส 1
ภารกิจอาร์เทมิส 1 นอกจากเป็นการซ้อมใหญ่ครั้งแรกแล้ว ตัวยานยังมีการนำอุปกรณ์ทดสอบต่าง ๆ ติดไปด้วย เพื่อเก็บข้อมูล ค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาศึกษาต่อบนพื้นโลก เช่น การนำหุ่นจำลองแทนมนุษย์อวกาศที่ทำจากวัสดุเลียนแบบเนื้อเยื่อมนุษย์มาติดตั้งบนที่นั่งลูกเรือ ซึ่งหุ่นนี้มีตัวหนึ่งสวมชุดป้องกันที่ได้รับการออกแบบใหม่ และอีกตัวที่ไม่สวมชุดป้องกันรังสี ซึ่งตัวหุ่นนั่นมีการติดตั้งเซนเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนและปริมาณรังสีอันตรายที่มาสัมผัสร่างกายหลายพันตัว เพื่อนำข้อมูลมาใช้การการพัฒนาชุดป้องกันรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่เยือนดวงจันทร์ในอนาคตให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการนำดาวเทียมขนาดเล็ก CubeSat ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากหลาย ๆ ประเทศ มีขนาดเท่ากับกล่องรองเท้า ถูกนำไปปล่อยในห้วงอวกาศลึกนอกสถานีอวกาศเป็นครั้งแรก เพื่อทำการทดลองทางชีวภาพซึ่งจะสังเกตปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพในอวกาศ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากภารกิจ อาร์เทมิส 1 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยและรัฐบาลไทย ไม่ควรพลาดโอกาสสร้างความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพราะเรามีแต่ได้ ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งการส่วนร่วมในสังคมประชาชาติ และการได้มาซึ่งองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์จากภารกิจนี้

5.) จุดเริ่มต้นสำหรับ "แผนการในระยะยาว"
ถือเป็นก้าวแรก สำหรับแผนการระยะยาว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญของมนุษยชาติในการไปตั้งอาณานิคม และหาแหล่งทรัพยากรบนดวงจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ “ห้ามพลาด” จากข่าวที่ผ่านมาจะทราบได้ว่าทาง NASA ค่อนข้างจะกังวลถึงผลสำเร็จของโครงการนี้มาก (ไม่งั้นเสียชื่อ) โดยมีการเลื่อนการปล่อยจรวดหลายครั้ง ทั้งเหตุมาจากเชื้อเพลิงรั่ว หรือ สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เพื่อลด “ความเสี่ยง” ที่จะทำให้ภารกิจนี้เกิดปัญหาซึ่งถ้าก้าวแรกนี้พลาด ก็มีโอกาสสูงที่ทั้งโครงการอาจจะมีผลกระทบได้ ดังนั้นทางวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ต้องหาวิธีออกแบบและคำนวณเพื่อลดโอกาสในการเกิดเหตุไม่คาดคิดให้เหลือน้อยมากที่สุด

ซึ่งจากประเด็นต่าง ๆ นั้นทำให้เราทราบถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและหลาย ๆ ประเทศในการบรรลุเป้าหมายในการพิชิตดวงจันทร์

"การมีเป้าหมาย" คือ หัวใจของการพัฒนาในทุกเรื่อง โครงการอาร์เทมิส จึงมิใช่เพียง การไปดวงจันทร์ หรือ เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งโครงการอวกาศเท่านั้น แต่เป็นจุดกำเนิดของ "ความมุ่งมั่น" กับ "ความฝัน" ที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติ

ประเทศไทยเราเรียนรู้ไว้ ไม่เสียหายครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.เอ้ ชี้เชียงรายน้ำลด ปัญหาไม่ลด วิกฤตยังคงอยู่ ชง 3 สิ่งสำคัญ ‘กู้ภัย-ฟื้นฟู’  

ดร.เอ้ ชี้เชียงรายน้ำลด ปัญหาไม่ลด วิกฤตยังคงอยู่ เชื่อมั่นคนไทยต้องไม่ทิ้งกัน แต่ถ้ายังทิ้งปัญหาไว้ น่าเห็นใจชาวบ้าน

'ดร.เอ้' ชี้ไฟไหม้รถบัสนักเรียนอย่าแค่ถอดบทเรียน ร่วมหนุนร่างพรบ.ความปลอดภัยสาธารณะ

ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ไฟไหม้รถบัสนักเรียน แค่เสียใจ คงไม่พอ"

'ดร.เอ้' ย้อนถาม ไทยดินแดนอุดมสมบูรณ์ครบ ทำไมต้องหวังพึ่ง 'กาสิโน' หาปัญหาใส่ตัว ใส่สังคมทำไม

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ กาสิโน ช่วยให้คนไทยรวยขึ้นจริงหรือ ? หรือ เรากำลังหาปัญหาใส่ตัว มีเนื้อหาดังนี้

'ดร.เอ้' จ่อนำทีมเสนอ ร่างพรบ.เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ก้าวแรกสร้างสังคมปลอดภัย

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะนำผู้แทนประชาชนและนักวิชาการ รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ สูญเสีย จากอุบัติภัย เสนอร่างกฎหมาย "พระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ที่รัฐสภา

'ดร.เอ้' เฉลยข้อสอบแล้ว ขนย้าย 'กากแคดเมียม' อย่างไรให้คนไทยไม่เสี่ยงตาย

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า เฉลยข้อสอบแล้ว How to ขนย้ายกากแคดเมี่ยมอย่างไรให้คนไทยไม่เสี่ยงตาย หลังรัฐบาลสอบตกยับทุกข้อ"