13 ธ.ค.2565 - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคนที่ 10 ล้าน ของปี 2565 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น จากเดิมช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศและมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมโรคทำให้ผู้เดินทางเข้าประเทศลดลงอย่างมาก แต่เมื่อประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้และลดระดับความรุนแรงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จึงมีการเปิดประเทศ เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการและความเข้มงวดในการเดินทางเข้าประเทศตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถเดินทางได้ตามปกติ ทำให้เห็นว่าเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์โควิด 19 แล้ว ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายอนุทินกล่าวว่า หลังสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลายลง ได้ใช้แนวคิด Health for Wealth เป็นนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ ใช้สุขภาพสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ หนึ่งในนั้นคือนโยบาย Medical Hub ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2564 Medical Tourism Association จัดอันดับให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 5 ของโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยได้รับการยอมรับ คือ 1.แพทย์ไทยมีศักยภาพและมีชื่อเสียงในหลากหลายสาขาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 2.ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและมาตรฐานการรักษาระดับสากล 3.ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล 4.ค่าครองชีพไม่สูงมาก เหมาะแก่การพำนักรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายในระยะยาว 5.ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มาตรการขยายเวลาพำนักในไทยกรณีเข้ามารักษาพยาบาล การเพิ่มประเภทวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Visa) Non-MT ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple Entry) คราวละไม่เกิน 1 ปี (อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด)และ 6.มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ Wellness ทั้งการนวดไทย สปา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและรายได้เข้าประเทศไทยมากขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปี 2563 และ 2564 ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำรวจข้อมูลจากสถานพยาบาล 30 แห่ง พบว่า ปี 2564 รายรับค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลประมาณ 11,903 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 47% ประเทศที่เข้ามารักษาพยาบาลมากที่สุด 5 อันดับ คือ คูเวต กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น และจีน ส่วน 5 อันดับกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยเข้ามารักษามากสุด ได้แก่ การตรวจสุขภาพ กระดูกและข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก และทันตกรรม ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโรคที่สร้างรายได้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก มะเร็ง กระดูกและข้อ และระบบประสาทวิทยา
“หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำรวจข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างเดือนก.ค.– ส.ค.2565 พบว่า กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ การรับประทานอาหารไทย 90.57% นวดและสปา 48.23% กิจกรรมชายทะเล 48.12% และท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ 46.22% ส่วนการท่องเที่ยวพร้อมการตรวจสุขภาพ จัดอยู่ในลำดับที่ 16 สำหรับด้านค่าใช้จ่าย พบว่า กลุ่มที่ท่องเที่ยวพร้อมตรวจสุขภาพ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 35,074 บาท/คน/ทริป” นพ.สุระกล่าว
นพ.สุระกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีการสร้างระบบให้เอื้อต่อชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวระยะยาวและรักษาพยาบาลในประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยขยายระบบวีซ่าพิเศษ เช่น การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (non-immigrant) รหัส O-A (Long Stay) การเพิ่มเติมกลุ่มประเทศเป้าหมายการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวมไม่เกิน 4 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีนโยบาย Long Stay Visa รหัส Non-O-X ระยะ 10 ปี ได้แก่ เกาหลี เบลเยียม ออสเตรีย และนิวซีแลนด์ และการขยายเวลาพำนักในประเทศไทยรวม 90 วัน ในกรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล สำหรับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) และจีน